ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1ล้านล้านบาท ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 200 เสียง หลังจากอภิปรายเนื้อหาอย่างกว้างขวางนานกว่า 6 ชั่วโมง
โดยการประชุมมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาภายใน 20 วัน และไม่มีการแก้ไข
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 รายงานต่อข้อสังเกตของการศึกษาต่อที่ประชุมว่า หลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยยังมีโอกาสและความท้าทาย เหมือนฟ้าหลังฝน อย่างไรก็ดีวุฒิสภามีข้อเสนอด้วยคือ การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นมีบางเกณฑ์ไม่สะท้อนถึงการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะจัดสรรงบประมาณตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่เติบโตเศรษฐกิจมากจัดสรรให้มาก ทั้งที่ควรจัดสรรให้พื้นที่เติบโตเศรษฐกิจน้อยควรให้มาก นอกจากนั้นรัฐบาลต้องทบทวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล และควบคุมการใช้งบประมาณ
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณในปี 2566 ที่ลดลง ทั้งนี้รัฐบาลควรสั่งการหน่วยงานให้จัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญ ส่วนที่ไม่สำคัญให้ชะลอหรือเลื่อนออกไป และให้นำงบส่วนดังกล่าวจัดสรรสมทบที่งบกลางเพื่อลดภาระของการกู้เงิน หากรัฐบาลต้องกู้เงินอีกในอนาคต นอกจากนั้นงบลงทุนของปี 2565 ที่มี 6 แสนล้านบาท หรือ 20.1% ถือว่าอยู่ระดับต่ำ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งจัดลำดับความสำคัญโครงการที่สำคัญและเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน นอกจากนั้นต้องนำเงินอนาคตมาใช้ หมายถึงรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ด้านไฟฟ้า ด้านประปา ด้านการทางพิเศษ โดยการออกพันธบัตร (บอนด์) เพื่อลดภาระเงินกู้
“การคาดการณ์รายได้ของรัฐวิสาหกิจจะต่ำลงขณะเดียวกันรัฐบาลต้องอุดหนุนปี 2565 มีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือการดูแลสมดุลฐานะการคลังและสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ขอให้ใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส พิจารณาความเหมาะสมว่าบางรัฐวิสาหกิจจะให้เอกชนทำต่อไปหรือไม่ และต้องเร่งรัดดูรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่องสภาพคล่อง” นายวิสุทธิ์ รายงาน
นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุมวุฒิสภาเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลเพื่อเร่งแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ว่า 1.รัฐบาลต้องเตรียมวัคซีน เข็มที่ 4 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 58 ล้านคน ในปี 2565 โดยรัฐบาลต้องเตรียมวัคซีนอย่างน้อย 232 ล้านโดส ปัจจุบันรัฐบาลมีสัญญาซื้อวัคซีน 130 ล้านโดส ยังขาดอีก 102 ล้านโดส ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทำสัญญานำเข้าและประกาศความพร้อมฉีดวัคซีนในปี 2565 ทั้งนี้ตนไม่ใช่หมอ หรือนักวิทยาศาสตร์ แต่ชำนาญบริหารความเสี่ยง ต้องเตรียมเข็ม 4 ไว้เพราะโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนาน โดยต้องเตรียมวัคซีน ปี 2566 จำนวน 1 เข็ม และ ปี 2567 อีก 1 เข็ม 2.รัฐบาลต้องเตรียมพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยสนับสนุนบริษัทเอกชน และสถาบันที่ทำวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อลดภาระนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และ 3. ต้องพัฒนาวัคซีนทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย
นายกูรดิสถ์ อภิปรายด้วยว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อเตรียมการประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เพื่อใช้ในระยะสั้นจำนวน 3.3 หมื่นล้าน ระยะปานกลาง คือ ปี 2566 และปี 2567 จำนวน 3.7 หมื่นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนวิจัยเพิ่มศักภาพรวม 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องของบเพิ่มหรือขอวงเงินกู้ แต่ควรให้กระทรวงสาธารณสุขนำเงินนอกงบประมาณที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท แต่พบการใช้เงินปีละ 200 ล้านบาท ออกมาใช้เพื่อแบ่งเบาภาระเงินกู้และปอ้งกันระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน ดังนั้นภาวะสงครามกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นแนวหน้านำกระสุนทางการคลังออกมาใช้
“การใช้เงิน 7.5หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งความเสียหายในระบบเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า จากการล็อกดาวน์ทำให้รายได้หายไป หรือหลุมรายได้ 2.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นเงินลงทุนคิดเป็น 2.9% จากหลุมรายได้ ดังนั้นการลงทุนดังกล่าวถือว่าคุ้มครองความเสี่ยง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแก้ป้ญหาระยะสั้นเพื่อวางแผนสำหรับอนาคต” นายกูรดิสถ์ กล่าว
นายกูรดิสถ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศนั้นสามารถทำได้ หากเร่งฉีดวัคซีนได้ 5-6 แสนโดสต่อวัน อย่างไรก็ดีข้อเสนอของตนนั้นคือวิธีที่ไม่ต้องกลับมาปิดประเทศอีก ดังนั้นรัฐบาลต้องแสดงภาพที่ชัดเจนว่าประชาชนมีภูมิคุ้มกันเต็มที่ในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้นักธุรกิจรายใหญ่ รายเล็กและนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจ ขณะเดียวกันภาคครัวเรือนมั่นใจและมีแผนใช้เงินออมด้วยความมั่นใจ จะช่วยให้การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันนักท่องเที่ยวจะได้วางแผนกลับมาท่องเที่ยว เกิดรายได้จากการบริการการท่องเที่ยวที่ช่วยเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และงบประมาณปี 2565 มีเสถียรภาพ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ฐานะตัวแทนรัฐบาล กล่าวชี้แจงก่อนการลงมติถึงกรณีส.ว.กังวลต่อการหารายได้นั้นว่า ในปี 2565 มีข้อจำกัดการจัดงบประมาณในภาพรวม เนื่องจากมีสิ่งที่คำนึง คือ สภาพเศรษฐกิจที่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้า 1 ปี ทั้งนี้ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่มีโครงสร้างรายรับ จากการเก็บภาษี รายได้รัฐวิสาหกิจ รายได้ท้องถิ่นและรายได้จากส่วนราชการต่างๆ
ทั้งนี้หน่วยงานจะพิจารณาติดตามรายได้ให้เป็นงบประมาณของแผ่นดิน ส่วนที่กังวลต่อการจัดเก็บภาษีนั้นในวันที่ 1 ก.ย.64 จะเริ่มมีการจัดเก็บภาษี e-service จากแพลตฟอร์มต่างประเทศตามกฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติ และกระทรวงได้ออกกฎกระทรวงบังคับใช้ ทั้งนี้มีแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่เคยเก็บภาษีลงทะเบียนกว่า 50 ราย จากที่กำหนด 100 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)
Tags: พ.ร.บ.งบประมาณ, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย, วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ