นายธนาคารและนักลงทุนในวงการเปิดเผยว่า บริษัทเทคโนโลยีการเงินและอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเนื้อหอมในหมู่นักลงทุนทั่วโลก โดยระดมเงินทุนได้มหาศาลจากนักลงทุนเหล่านี้ ซึ่งหันมาลงทุนกับสตาร์ทอัพอาเซียนเพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนในยุคหลังโควิด-19 ประกอบกับต้องการลงทุนในภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากจีน ซึ่งกำลังเดินหน้าปราบปรามธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยีจนทำให้เกิดความวิตกกังวล
ข้อมูลจาก Refinitiv ระบุว่า บริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนในตลาดได้ถึง 8.4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทอินโดนีเซีย ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดก็คึกคักไม่แพ้กัน โดยมีการลงทุนรวมแตะ 8.2 พันล้านดอลลาร์
บริษัทและสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลกันมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเร่งหาบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตในภูมิภาคที่มีประชากรรวมกัน 650 ล้านคน
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนเดินหน้าปราบปรามบริษัทเทคโนโลยี ก็ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันมามองอาเซียนมากขึ้น
นอกเหนือจากอินโดนีเซียแล้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจากกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ยกให้ไทยและเวียดนามเป็นอีกสองประเทศที่มีประชากรมากพอที่จะช่วยหนุนให้เกิดสตาร์ทอัพสายดิจิทัลระดับยูนิคอร์นด้วย
ทั้งนี้ รายงานจาก Bain & Company และ World Economic Forum ระบุว่า การนำระบบดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วจะดำเนินต่อไปในอาเซียน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับการกระตุ้นโดยผู้บริโภคที่เติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล การลงทุนของนักลงทุนในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล โดยภายในปี 2573 จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเกือบ 575 ล้านคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 64)
Tags: ฟินเทค, สตาร์ทอัพ, อาเซียน, อีคอมเมิร์ซ, เทคโนโลยีการเงิน, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต