นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ทิศทางพลังงานไทย กับเป้าหมายลดการปล่อย CO2” ว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในช่วง 40 ปีจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ และรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ทิศทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการในขณะนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการติดตาม ปฎิบัติ หรือมีนโยบายสอดคล้องกับกระแสสังคมโลก ยังเป็นการลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในประเทศไทยด้วย โดยรัฐบาลก็ได้วางงบลงทุนราว 2 ล้านล้านบาทเพื่อสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในระยเวลา 40 ปีจากนี้
ปัจจุบันประเทศไทยเองได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 350 ล้านตัน/ปี ทั้งนี้ กลุ่มสาขาพลังงานถือเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซฯ สูงสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยมีปริมาณถึง 250 ล้านตัน/ปี หากไม่เดินตามกระแสโลกที่จะต้องดูแลโลกร่วมกัน จะทำให้ไทยมีภาระ หรือต้นทุนการแข่งขันของประเทศสูงถึง 700,000 ล้านบาท/ปี (ประเมินจากราคาคาร์บอนเครดิตวันนี้) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยต้องมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ
เป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะลดการปล่อยก๊าซฯ ลงเหลือ 90 ล้านตัน/ปีภายใน 40 ปีจากนี้ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปให้เหลือศูนย์ จะทำได้โดยการกักเก็บคาร์บอนในหลากหลายวิธี เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับ ซึ่งในอดีตนั้นพื้นที่สีเขียวนี้มีรายได้จากพืชผล หรือต้นไม้ที่ปลูกเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีรายได้เสริมเข้ามาอีกจากการขายคาร์บอนเครดิต หรือขายคุณภาพในการดูดซับคาร์บอนจากระบบได้ ทำให้ท้องถิ่น ฐานรากเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น
มติของ กพช. ได้ให้แนวทางในการบรรลุเป้าหมายไว้ใน 4 ด้าน ดังนี้
- เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน ให้มากกว่า 50% โดยปัจจุบันก็ได้มีการนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากคาดว่าภายในไม่เกิน ต.ค.นี้น่าจะทราบผลการประมูลรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว
- ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการใช้และการผลิตในประเทศให้มากขึ้น ตามนโยบาย 30:30 โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลภายในเดือน ก.ย.64
- เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรือลดการใช้พลังงานในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ได้มากกว่า 30% โดยนำเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ปัจจุบันก็เริ่มดำเนินการแล้วค่อนข้างมาก
- การปรับโครงสร้างกิจการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ให้ได้โดยเร็วในช่วง 1 ปี และ 4 ปี
“ในมุมมองของผมต่อเรื่องดังกล่าวนี้ มันเป็นกระแสสังคมโลก เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพราะเราเห็นประโยชน์ และถ้าไม่ทำเราก็จะมีความเสี่ยง ในด้านต้นทุนการแข่งขันของประเทศ หากทุกประเทศทั่วโลกเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามมติที่จะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาเร่งรัด ทั้งส่งเสริม หรือบังคับทางมาตรการภาษี ทำให้ต้นทุนการแข่งขันของประเทศไทยมีมากขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรในวันนี้
รวมถึงยังมองเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมดั่งเดิม หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความหลากหลายของเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวมวล ชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือแม้การนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ถือว่ามีศักยภาพที่สูง และโดดเด่นในภูมิภาคนี้ เชื่อได้ว่าเราเดินตามทิศทางนี้จะเป็นประโยชน์”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องสังคมคาร์บอนต่ำนั้น ก็จะมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีการผลิตในประเทศไทยตามนโยบาย 30:30 คือ การผลิตในประเทศ 30% จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสะอาดใน 9 ปีจากนี้ รวมถึงสถานีประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่ และยังมีอย่างอื่นอีก เช่น Smart Electronic เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เห็นได้จากปัจจุบันที่มีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศทิศทางพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีต่างๆ
นอกจากนี้ มองว่าการที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของพลังงานสะอาดได้ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมใหม่นี้
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยในการเสวนา “ทิศทางพลังงานไทย สู่แผนปฎิบัติลดการปล่อย CO2” ในงานสัมมนา ทิศทางพลังงานไทย สู่เป้าหมายการลด CO2 ว่า ทิศทางของโลกที่มีเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือพยายามให้มากที่สุด คือ 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนทิศทางพลังงานโลก ซึ่งทั่วโลกก็มีการตั้งเป้าหมาย การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์
ขณะที่ประเทศไทยเองก็ได้เข้าไปร่วมความตกลงปารีส หรือ COP 21 โดยมีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% หรือจำนวน 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 73 โดยมองว่าภาคพลังงานถือเป็นภาคสำคัญที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรการ NDC (Nationally Determined Contribution)
อย่างไรก็ตามหากมองการใช้พลังงานของประเทศ จะมาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 ราว 36% รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 31% และ 27% เป็นภาคขนส่ง โดยในส่วนของภาคพลังงานนั้น ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีแผนที่จะมุ่งไปตามทิศทางของโลก ที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เนื่องจากภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซฯ มากที่สุด
สำหรับกรอบการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ คาดว่าขณะนี้จะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 65 และนำเสนอแผนนี้ โดยเบื้องต้นทิศทางของแผนฯ ก็จะมองไปในระยะยาวว่าไทยจะมุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซฯ ในระยะประมาณ 40 ปีจากนี้ ได้อย่างไรบ้าง โดยมีปัจจัยสำคัญใน 4 ส่วนหลัก คือ
1.การปรับพอร์ตในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ที่เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน ให้มากกว่า 50%
2.กำหนดเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้า ให้มีการใช้และการผลิตในประเทศให้มากขึ้น ตามนโยบาย 30:30 และโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
3.เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30% โดยนำเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้
4.การปรับโครงสร้างกิจการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ตามกำหนด
ด้านภาคเอกชน นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า จากทิศทางของโลกและนโยบายของรัฐบาล บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น ธุรกิจ Energy Storage, รถยนต์ไฟฟ้า (EV), รถบัสไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่าง สถานีชาร์จไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น Biodiesel มาเป็น Greendiesel เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงดำเนินธุรกิจกต้นน้ำให้ครบวงจร อย่าง โรงหีบปาล์ม และส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาบางจากได้มีการทำงานร่วมกับองค์กรก๊าซเรือนกระจก
สิ่งที่บริษัทและทุกธุรกิจควรจะดำเนินการ คือ การปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของวิธีการผลิตต่างๆ อย่างกรณีของโรงไฟฟ้าโคเจนเนอร์เรชั่นมีการรั่วไหลของความร้อนจะนำมารีไซเคิลได้อย่างไร การนำพลังงานหรือขอเสียกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เชื่อว่าจะทำให้บริษัทสามารถลดการปล่อยคาร์บอนลดลงได้ประมาณ 20% ในปี 68 และ 30% ในปี 73
ส่วนที่เหลืออีก 70% ในเบื้องต้นบริษัทมองโอกาสลงทุนในธุรกิจสีเขียว เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์, ลม ที่มีคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น ทำให้มั่นใจว่าจะมี Carbon Neutrality ได้ในปี 73 ซึ่งปัจจุบันบริษัทย่อยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ราว 6 แสนตัน ส่วนบางจากมีการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 7 แสนตัน เกินมา 1 แสนตัน หากค่อยๆ ดำเนินการไปใน 7-8 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตจากพลังงานสะอาดของบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นก็คาดจะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้
เป้าหมายการดำเนินงานของบริษัท ตั้งแต่ปี 57-62 มี EBITDA เติบโต 50% แต่การปล่อยคาร์บอนยังไม่ถึง 20% และ ในอีก 7-8 ปีข้างหน้าก็มองว่าจะมี EBITDA โต 2-3 เท่า แต่จะมีการปล่อยคาร์บอนเป็น Neutral มากขึ้น โดยในอนาคต 30% ของโรงกลั่นจะมีผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันออกมามากขึ้น, ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยตั้งเป้าปีนี้ไว้ที่ 150 แห่ง ของสถานีบริการที่มีอยู่, โรงไฟฟ้าที่มาจาก Renewable Energy, การขยายสู่ Synthetic Biology และการลงทุนในธุรกิจที่เปลี่ยนโลก หรือ Frontier Business ล่าสุดที่บริษัทเตรียมจะเข้าลงทุน คือ ธุรกิจไฮโดรเจนในประเทศอังกฤษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 64)
Tags: กพช., กระทรวงพลังงาน, ก๊าซเรือนกระจก, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ, พลังงานสะอาด, ลดโลกร้อน, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์