ศบค.ผ่อนคลายกิจการพื้นที่แดงเข้มภายใต้มาตรการ เริ่ม 1 ก.ย.

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการทางสังคม ทั้งการทำงานที่บ้าน (WFH) และมาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ต่อไปอีก 14 วัน แต่อนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์, ร้านเสริมสวย ร้านนวด เฉพาะนวดเท้า, การใช้อาคารสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา ภายใต้มาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่โรคด้วย COVID-FREE Setting โดยมาตรการนี้ จะมีการบังคับใช้ในทุกร้าน/ทุกกิจการ แต่เป็นมาตรการนำร่อง เริ่ม 1 ก.ย.นี้

1.การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

  • ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือให้เดินทางเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
  • สื่อสารให้ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือผู้ติดเชื้อให้เดินทางตามโครงการรับคนกลับบ้าน/รับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างและหลังการเดินทาง
  • ระบบขนส่งสาธารณะจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ไม่เกิน 75 % สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหาร
  • มาตรการสำหรับรถโดยสาร หรือรถตู้ ระยะทางไกลควรแวะพักทุก 2- 3 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศ
  • การเดินทางไปทำงานของแรงงาน ให้ใช้ระบบ Seal Route ตามมาตรการ Bubble and Seal
  • การกำกับติดตามมาตรการโดยผู้ประกอบการ กระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือน

2.ร้านอาหาร

ประเภทร้านอาหาร

  • ร้านอาหารที่อยู่นอกอาคาร หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีอากาศถ่ายเทดี ให้นั่งรับประทานได้ 75%
  • ร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50%
  • ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  • การกำกับติดตามมาตรการ โดยผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

3.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/คอมมูนิตี้มอลล์

สามารถเปิดดำเนินการได้ทุกแผนก ภายใต้มาตรการ ยกเว้น กิจการ/กิจกรรม ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 กิจการ/กิจกรรมที่เปิดได้แบบมีเงื่อนไข ได้แก่

  • ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม เปิดได้เฉพาะตัดผมเท่านั้น ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  • ร้านนวด เปิดได้เฉพาะนวดเท้า
  • คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น
  • ร้านอาหาร เปิดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการร้านอาหารมีเครื่องปรับอากาศ

กลุ่มที่ 2 กิจการ/กิจกรรมที่ยังไม่เปิดให้บริการ ได้แก่

สถาบันกวดวิชา, โรงภาพยนตร์, สปา, สวนสนุก สวนน้ำ, ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ, ห้องประชุม/จัดเลี้ยง

  • ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  • การกำกับติดตามมาตรการ โดยสภาหอการค้าไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
  • เปิดถึงเวลา 20.00 น.

4.การเปิดกิจการ/กิจกรรม บางประเภท ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า)

  • ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  • การกำกับติดตามมาตรการ โดยผู้ประกอบการ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

5.การใช้อาคารของสถานศึกษา

  • สามารถใช้อาคารของสถานศึกษาได้ โดยผ่านความเห็นชอบของผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในพื้นที่ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

6. การเปิดใช้สนามกีฬา และสวนสาธารณะ

  • สามารถเปิดใช้ สนามกีฬาและสวนสาธารณะประเภทกลางแจ้ง หรือสนามกีฬาในร่มที่เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ สามารถใช้ในการเล่น ซ้อม หรือแข่งขันกีฬาได้แบบไม่มีผู้ชม

ทั้งนี้ให้มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม และไม่ให้มีการรวมกลุ่มกัน โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

  • สามารถเปิดใช้สนามกีฬาทุกประเภทสำหรับการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทย แบบไม่มีผู้ชม โดยแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ทราบล่วงหน้าก่อนการเริ่มใช้
  • ผู้จัดการแข่งขัน ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  • การกำกับติดตามมาตรการ โดยผู้จัดการแข่งขัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
  • เปิดถึงเวลา 20.00 น.

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลง แต่ขณะนี้มีเป้าหมายคือปรับการรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไป ให้สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ด้วยการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุลกับการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ที่ประชุมยังคงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 29 จังหวัดไว้คงเดิม เนื่องจากการติดเชื้อยังพบในวงกว้างและมีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมาตรการที่เข้มงวดและเชื่อมั่นว่า ระบบสาธารณสุขยังคงรองรับได้ และให้คงมาตรการทางสังคม ทั้งการห้ามออกนอกเคหะสถาน ในเวลา 21.00-04.00 น. และ work from home ต่อไปอีกอย่างน้อย 14 วัน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า การยกระดับมาตรการป้องกัน โควิด-19 แบ่งเป็นการเปิดกิจการและจัดกิจกรรมให้ปลอดภัยและยังยืน ด้วยหลักการ COVID-FREE Setting และ Universal Prevention สำหรับสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง โดย Universal Prevention for Covid-19 หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ซึ่งเป็นการระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไปให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 แม้ยังไม่พบว่ามีความเสี่ยง โดยมีข้อปฏิบัติ 10 ข้อ อาทิ ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น การเว้นระยะห่างจากคนอื่น การสวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด และหากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรได้รับการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

มาตรการสำหรับองค์กร COVID-FREE Setting แบ่งเป็น 3 อันดับคือ COVID-FREE Environment คือ ระบบระบายอากาศสุข อนามัย สะอาดปลอดภัย และ เว้นระยะห่าง, COVID-FREE Personnel คือ ผู้ประกอบการและพนักงานที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านตัดผม และร้านนวด เป็นต้น โดยจะระดมฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ 2 เข็มให้เร็วที่สุด และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ให้พนักงาน และ COVID-FREE Customer คือ ลูกค้าจะต้องฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม และก่อนเข้ารับบริการจะต้องตรวจ ATK หรือมีใบรับรองผลการตรวจเป็นลบไม่เกิน 7 วัน

โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า เป็นมาตรการที่จะทำให้นำไปสู่การที่กิจการและกิจกรรมต่างๆเหล่านี้สามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ทั้งนี้ เริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นการดำเนินการในพื้นที่นำร่องเฉพาะสถานประกอบการ หรือสถานบริการที่มีความพร้อมมีการดำเนินการได้ โดยจะต้องมีความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น สถานประกอบกิจการ ร้านอาหารในบางแห่งที่มีความพร้อม เช่น พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และสามารถหาชุดตรวจ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกที่จะตรวจพนักงานทุกสัปดาห์ แต่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้กับทุกร้าน หรือทุกสถานประกอบการ

อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัย ย้ำว่า การเปิดกิจการหรือสถานการประกอบการในวันที่ 1 ก.ย. เป็นกิจการที่มีความพร้อม ส่วนกิจการใดที่ยังไม่พร้อมให้มีการเตรียมตัวไว้ ทั้งการตรวจคัดกรองด้วย ATK ของพนักงาน และการตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนลูกค้าที่มาใช้บริการ พร้อมกับขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาชนในปฏิบัติตามมาตรการที่ออกมาด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาเร่งรัดการฉีดวัคซีนตามลำดับความเร่งด่วนเน้นย้ำให้กับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอายุ 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงโดยมีการฉีดวัคซีน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข พนักงานขนส่งสาธารณะ ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา เพื่อรองรับการเปิดเรียน การสอน รวมถึงที่ประชุมยังมีการพูดถึงอาชีพเสี่ยงที่อาจจะต้องให้บริการลูกค้า เช่น พนักงานตัดผมหรือพนักงานส่งอาหาร เป็นต้น

รวมทั้งพิจารณาระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขณะเดียวกันมาตรการที่จะช่วยให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การสร้างโอกาสให้เข้าถึงชุดตรวจ ATK โดยจะต้องเน้นย้ำในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

ส่วนชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการลงนามกับบริษัทเอกน โดยบริษัทจะสามารถจัดส่งให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ในราคาที่เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในร้านอาหารและสถานประกอบการได้

นอกจากนี้ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผอ.ศบค.ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าวัคซีนที่ผลิต โดยนักวิจัยไทย ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) รายงาน ความคืบหน้าว่า ตอนนี้มีวัคซีน 4 ชนิด ที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและเริ่มทดลองในมนุษย์ ทั้งในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) และภาคเอกชนซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top