BCH มั่นใจรายได้ปี 64 โต 80-100% จากโควิดหนุน,ปี 65 คาดโตต่อเนื่องกว่า 10%

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เปิดเผยว่า แนวโน้มของรายได้ในปี 64 มั่นใจว่าจะเติบโตขึ้นถึง 80-100% เกินกว่าเป้าหมายเดิมที่บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตราว 10-15% ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานปีนี้จะทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High)

ปัจจัยหนุนสำคัญมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง ทำให้การบริการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีมากขึ้น ซึ่งทางโรงพยาบาลในเครือ BCH มีการรองรับบริการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มที่ รวมถึงร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและโรงแรมต่างๆ ในการให้บริการ ทำให้บริษัทสามาถสร้างรายได้เข้ามาได้มากขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3/64 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงมากกว่า 10,000-20,000 ราย/วัน ทำให้โรงพยาบาลในเครือมีรายได้จากบริการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/64 ค่อนข้างมาก โดยที่ทางบริษัทประเมินว่าไตรมาสนี้จะมีจำนวนผู้เข้ามารับบริการตรวจ RT-PCR กว่า 700,000 ราย

ส่วนผลกระทบจากการปรับลดอัตราค่าบริการตรวจของภาครัฐที่สนับสนุนเข้ามา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานมากนัก เพราะปัจจุบันต้นทุนในการตรวจ ทั้งน้ำยาและเครื่อมืออุปกรณ์ถูกลง สามารถชดเชยกับส่วนต่างที่หายไปได้

ในด้านบริการรักษาพยาบาลใน Hospitel นั้น BCH มีพันธมิตรโรงแรมราว 36 แห่ง จำนวนกว่า 16,000 ห้อง ปัจจุบันมีผู้เข้ารักษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราเข้าใช้บริการ Hospitel ในเครือ BCH เฉลี่ยอยู่ที่ 90% ในช่วงไตรมาส 3/64 ประกอบกับ บริษัทร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานต่างๆ เพื่อทำ Factory Sandbox รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงงาน ส่งผลให้รายได้เข้ามาจากหลากหลายช่องทาง เป็นแรงผลักดันต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/64 จะเติบโตอย่างโดดเด่นมากที่สุดในปีนี้

และในช่วงไตรมาส 4/64 จะมีรายได้เข้ามาเสริมจากการให้บริการฉีดวัตซีนทางเลือกโมเดอร์นา โดยทางเครือโรงพยาบาลของ BCH ได้รับโควตาวัคซีนโมเดอร์นามากว่า 1.3 ล้านโดส ที่จะทยอยเข้ามาให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4/64 ถึงสิ้นปี 64 ในล็อตแรก และล็อต 2 จะเข้ามาในช่วงต้นไตรมาส 1/64 เป็นต้น

แต่รายได้จากบริการตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 4/64 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะต่อไปว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร หากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็จะส่งผลให้รายได้ที่มาจากตรวจและรักษาโควิด-19 ชะลอตัวลงตามไปด้วย

นพ.เฉลิม ยังเปิดเผยว่า ภาพรวมในปี 65 บริษัทยังมั่นใจว่าทิศทางของรายได้ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากบริการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาทั้งรุ่นแรกในช่วงครึ่งปีแรก และวัคซีนรุ่นที่สองในช่วงครึ่งปีหลัง โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามารับการฉีดวัคซีนจะเป็นเข็มบูสเตอร์ ทำให้รายได้จากการฉีดวัคซีนยังคงเข้ามาต่อเนื่อง

อีกทั้งบริษัทจะมีรายได้จากโรงพยาบาลใหม่ที่เปิดในปีนี้ ทั้งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันท์ สปป.ลาว ที่จะรับรู้รายได้ได้เต็มปีในปี 65 ส่งผลให้มีปัจจัยหนุนรายได้เข้ามาเพิ่ม

นอกจากนั้น บริษัทคาดว่าจำนวนผู้ประกันตนที่จะเลือกเข้ามารับบริการในเครือโรงพยาบาลของ BCH ในปี 65 จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 1 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 880,000 ราย เนื่องจากเชื่อมั่นในการให้บริการของเครือ BCH ในการตรวจและรักษาโควิด-19 ส่งผลถึงการรักษาโรคอื่น ๆ ด้วย รวมถึงผู้ป่วยที่จ่ายเงินสดจะกลับมาใช้บริการรักษาในโรงพยาบาลตามปกติ หลังจากชะลอตัวไปในช่วงที่ผ่านมาจากความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจัยทั้งหมดมองว่าจะผลักดันให้รายได้ในปี 65 เติบโตมากกว่าช่วงปกติ หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%

นพ.เฉลิม ยังกล่าวถึงแนวโน้มการปลดล็อกวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทยให้เป็นวัคซีนปกติจากเดิมที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินว่า กระบวนการพิจารณาขององค์การอาหารและยา (อย.) ยังต้องใช้เวลาพอสมควร และการจะเปิดให้เอกชนนำเข้ามาเองได้นั้นอาจจะต้องมีการปรับแก้ข้อกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ต่างๆพอสมควร เนื่องจากกฎระเบียบของประเทศไทยแตกต่างจากสหรัฐฯและยุโรป ทำให้โรงพยาบาลเอกชนยังไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาให้บริการได้เร็วมากนัก แต่ขณะนี้ก็ยังมีวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด MRNA มาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top