In Focus: จับตาอนาคตธุรกิจจีน หลังรัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มด้านกฎระเบียบ-การลงทุน

ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฎการณ์เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวที่ทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นจีนอยู่ในมือต่างหายใจไม่ทั่วท้องเป็นระยะ เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มคุมเข้มและเอาจริงกับการตรวจสอบพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลายแห่ง ตั้งแต่บริษัทในแวดวงเทคโนโลยี ก่อนจะลามไปถึงธุรกิจการศึกษา ต่างถูกจับตามองเป็นพิเศษจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีน โดยล่าสุดนั้น ทางการจีนได้ระดมออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมไม่ให้บริษัทเหล่านี้เดินแตกแถวเหมือนในบางกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

In Focus สัปดาห์นี้ จะขอพาผู้อ่านย้อนไปดูประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลจีนออกมากำราบภาคธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้

ย้อนไทม์ไลน์จีนไล่บี้ธุรกิจยักษ์ใหญ่

หากจะย้อนไปจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ “Big Cleaning” ภาคธุรกิจในวงกว้างของรัฐบาลจีน เหตุการณ์ที่ชัดเจนมากที่สุดน่าจะเป็นกรณีที่บริษัทแอนท์ กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งของนายแจ็ก หม่า ได้ยื่นเรื่องเพื่อนำหุ้นออกเสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง เมื่อปลายเดือนเดือนส.ค. 2563 ก่อนจะโดนทางการจีนสั่งเบรกไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 5 พ.ย. หลังจากนั้น รัฐบาลจีนก็ยังคงเพ่งเล็งและคอยถือ “ไม้เรียว” พร้อมฟาดบริษัทที่ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ต้องยอมถอย ซึ่งไทม์ไลน์ที่สำคัญในช่วงดังกล่าวนับจนถึงปัจจุบัน พอจะสรุปได้ดังนี้

  • 26 ส.ค. 2563 — สื่อรายงานว่า แอนท์ กรุ๊ปในเครืออาลีบาบายื่นขอเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
  • 27 ต.ค. 2563 — แอนท์ กรุ๊ปทำ IPO เป็นวันแรก และต้องปิดการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบัน (institutional book building) ในตลาดหุ้นฮ่องกงเร็วกว่ากำหนด 1 วัน เนื่องจากยอดจองซื้อสูงกว่าเป้าหมายที่จะระดมทุนในวงเงินราว 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์
  • 2 พ.ย. 2563 — คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) และสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) เรียกพบนายแจ็ก หม่า พร้อมด้วยผู้บริหารของแอนท์ กรุ๊ปอีก 2 คน ตามรายงานข่าวระบุว่า บริษัทจะได้รับการปฏิบัติในฐานะบริษัทโฮลดิ้งด้านการเงิน และจะต้องยื่นข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลให้รับทราบเกี่ยวกับเงินทุนและหนี้สิน เช่นเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติ
  • 4 พ.ย. 2563 — แอนท์ กรุ๊ปแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า ทางบริษัทขอระงับการจดทะเบียนหุ้น H Share ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนได้สั่งระงับการจดทะเบียนหุ้น A Share ในตลาด STAR Market ของจีน เนื่องจากทางบริษัทไม่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนหุ้นดังกล่าว หลังจากที่มีการเรียกพบผู้บริหารของบริษัท ทำให้การจดทะเบียนหุ้น H Share ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ถูกระงับไปด้วย
  • 24 ธ.ค. 2563 — สื่อรายงานว่า รัฐบาลจีนได้เริ่มต้นการสอบสวนบริษัทอาลีบาบาในข้อหาผูกขาดตลาด พร้อมกับเรียกผู้บริหารของบริษัทแอนท์ กรุ๊ปเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีน เพื่อพูดคุยในเรื่องกฎระเบียบทางการเงิน
  • 16 มี.ค. 2564 — ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเตือนว่า รัฐบาลจีนจะติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่มีข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนมากและมีอิทธิพลต่อตลาด โดยคำเตือนดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า กระบวนการควบคุมอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
  • 9-10 เม.ย. 2564 — สื่อรายงานว่า ทางการจีนสั่งให้สถาบัน Hupan Academy ซึ่งเป็นสถาบันสอนธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากนายแจ็ก หม่า ยุติการลงทะเบียนรับนักศึกษาใหม่ และในวันต่อมา สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (SAMR) ของจีนได้สั่งปรับบริษัทอาลีบาบาเป็นเงิน 2.75 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 4% ของรายได้ในปี 2562 เนื่องจากบริษัทละเมิดกฎระเบียบในการต่อต้านการผูกขาดตลาด และใช้สถานะของผู้ครองตลาดไปในทางมิชอบ
  • 30 เม.ย. 2564 — หน่วยงานกำกับดูแลของจีนประกาศใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้นกับ 13 บริษัทที่ทำธุรกิจด้านการเงินที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงบริษัทเทนเซ็นต์และบริษัทไบต์แดนซ์ โดยเป็นมาตรการเดียวกับที่จีนได้ใช้ก่อนหน้านี้เพื่อควบคุมแอนท์ กรุ๊ป
  • 5 ก.ค. 2564 — คณะกรรมการกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของรัฐบาลจีนมีคำสั่งให้ถอดแอปพลิเคชันของตีตี ชูสิง (DiDi Chuxing) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถรับส่งสัญชาติจีน ออกจากแพลตฟอร์มแอปสโตร์ของจีน หลังเข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยอ้างว่า ตีตี ชูสิงทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายของจีน และในวันเดียวกันนี้ จีนยังสั่งสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีของจีน 3 ราย ได้แก่ Boss Zhipin, Yunmanman และ Huochebang ซึ่งนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลระดับประเทศ
  • 23 ก.ค. 2564 — รัฐบาลจีนประกาศกฎใหม่ว่า จะสั่งห้ามการเรียนกวดวิชาเพื่อแสวงหาผลกำไรในวิชาหลักของโรงเรียน เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังสั่งจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคธุรกิจดังกล่าว ทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ หรือการซื้อแฟรนไชส์
  • 24 ก.ค. 2564 — SAMR ได้สั่งปรับเทนเซ็นต์เป็นเงิน 500,000 หยวน (77,141 ดอลลาร์) ในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด เนื่องจากเทนเซ็นต์ได้เข้าซื้อกิจการของไชน่า มิวสิค (China Music) ในปี 2559 ซึ่งการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวทำให้เทนเซ็นต์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียวมากกว่า 80% และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อตกลงพิเศษกับผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงได้มากขึ้น
  • 17 ส.ค. 2564 — SAMR เผยร่างกฎระเบียบสำหรับอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต โดยครอบคลุมถึงคำสั่งห้ามทำการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม และกำหนดข้อบังคับในการใช้ข้อมูลอย่างเข้มงวด ซึ่งถือเป็นมาตรการควบคุมล่าสุดที่จีนจะนำมาบังคับใช้กับบริษัทเทคโนโลยี
  • 18 ส.ค. 2564 — รัฐบาลจีนขู่ลงโทษแอปพลิเคชันจำนวน 43 แอป รวมถึง WeChat (วีแชท) โดยระบุว่า แอปเหล่านี้ถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้งานอย่างผิดกฎหมาย พร้อมสั่งให้บริษัทแม่รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
  • 20 ส.ค. 2564 — รัฐสภาจีนผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law – PIPL) เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับบริษัทที่เก็บข้อมูลและจัดการข้อมูลของผู้ใช้งาน
  • 23 ส.ค. 2564 — สื่อหลายสำนักระบุว่า หน่วยงานด้านการกำกับดูแลของจีนกำลังพิจารณาเรื่องการออกคำสั่งให้บริษัทจีนที่มีการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากและต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ต้องเปิดทางให้บริษัทภายนอกสามารถจัดการและดูแลข้อมูล โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัฐบาลจีนต้องการตรวจสอบบริษัทเอกชน
  • 24 ส.ค. 2564 — คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ได้เริ่มออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลใหม่ของบริษัทจีนที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ

เหตุใดรัฐบาลจีนต้องควบคุมการเติบโตของภาคธุรกิจ

รัฐบาลจีนได้ระบุถึงเหตุผลในการคุมเข้มธุรกิจของภาคเอกชนว่า มาจากความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของภาคเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม, ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน และความมั่นคงของชาติ หากพิจารณาจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนนั้น พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 38.6% หรือกว่า 1 ใน 3 ของ GDP จีนในปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2551 ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วในชั่วระยะเวลาเพียง 10 ปีเศษ โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะรัฐบาลจีนคอยส่งเสริมและผลักดันธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงค่อนข้างให้อิสระเสรีในการขยายการเติบโต ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมานั้นจึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่รัฐบาลจะต้องวางกติกาใหม่เพื่อให้ผู้เล่นทุกคนยึดกฎเดียวกัน เพื่อลดความไม่ยุติธรรมและความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพตลาดในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ประเด็นความมั่นคงของชาติและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสร้างความหวั่นใจให้กับรัฐบาลจีนไม่น้อย เห็นได้ชัดในกรณีของตีตี ชูสิงที่ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์สเปซของจีน (CAC) ให้เลื่อนแผนการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อเดือนมิ.ย.ออกไปก่อน (แต่ก็ไม่เป็นผล) เนื่องจากกฎหมาย “The Holding Foreign Companies Accountable Act” ของสหรัฐที่ลงนามในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า บริษัทจีนอาจถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หากไม่ยื่นรายงานการตรวจสอบให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจีนกลัวนั้นอยู่ตรงที่ว่า กฎหมายของสหรัฐอาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของจีนตรงที่กำหนดให้บริษัทที่จะจดทะเบียนต้องยอมให้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่สำคัญ เช่น การทำแผนที่โดยละเอียดและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบุคคลจีน หน่วยงานรัฐบาล และสถานที่ปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งอาจรวมอยู่ในรายงานการตรวจสอบที่มอบให้กับทางการสหรัฐ ทำให้ความลับของประเทศตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลต่างชาติ

ส่วนการจัดระเบียบในธุรกิจการศึกษายังบ่งชี้เป็นนัยๆ ถึงการจัดระเบียบในภาคสังคมด้วย โดยเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ปธน.สีได้เรียกการกวดวิชาหลังเลิกเรียนว่าเป็น “ปัญหาสังคม” และในเดือนพ.ค. ยังได้ตำหนิ “การพัฒนาที่ไร้ระเบียบ” ในภาคธุรกิจนี้อีกครั้ง หลังจากนั้น ทางการจีนจึงได้จัดตั้งแผนกเพื่อควบคุมดูแลธุรกิจการศึกษาขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติและค่าธรรมเนียมของติวเตอร์ ตลอดจนสั่งห้ามการสอนเด็กก่อนวัยเรียนโดยใช้เนื้อหาของเด็กในระดับประถมศึกษา

การพุ่งเป้าไปที่ภาคการศึกษายังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกังวลเกี่ยวกับอัตราการเกิดที่ลดลงในจีน จุดมุ่งหมายสำคัญของการออกกฎใหม่จึงเป็นการบรรเทาความวิตกกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยนั่นเอง เพราะอุปสรรคใหญ่สำหรับชาวจีนในการมีบุตรมากกว่าหนึ่งคน คือต้นทุนในการเลี้ยงดู โดยเฉพาะโอกาสที่บุตรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งเป็นภาระใหญ่ที่พ่อแม่ต้องแบกรับ โดยรัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหานี้เมื่อเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบายอนุญาตให้พ่อแม่ชาวจีนมีบุตรได้ 3 คน

ไม้ตายของรัฐบาลกับการออกกฎหมายและมาตรการควบคุม

ราวเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนเริ่มส่งสัญญาณที่จะเข้ามากำกับดูแลอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง โดยสำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐ (SAMR) ได้เผยแพร่รายละเอียดการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดตลาดอินเทอร์เน็ต จนล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ส.ค. SAMR ได้เปิดเผยร่างกฎระเบียบสำหรับอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมถึงคำสั่งห้ามทำการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม และกำหนดข้อบังคับในการใช้ข้อมูลอย่างเข้มงวด และระบุว่าผู้ประกอบการธุรกิจไม่ควรใช้ข้อมูล, อัลกอริธึม หรือวิธีการทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อขโมยทราฟฟิก หรือทางเลือกของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถใช้วิธีการทางเทคนิคเพื่อสร้างกำแพงกีดกันผลิตภัณฑ์และการบริการทางอินเทอร์เน็ตที่ถูกกฎหมาย หากพบการละเมิดกฎข้อบังคับเหล่านี้ ทางรัฐบาลอาจจะว่าจ้างสถาบันซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อมูล สำหรับการออกกฎระเบียบใหม่นี้ SAMR ได้จัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ก่อนที่จะพิจารณาบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ รัฐสภาจีนยังได้ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law – PIPL) เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับบริษัทที่เก็บและจัดการข้อมูลของผู้ใช้งาน และนับเป็นครั้งแรกที่จีนออกกฎหมาย PIPL เพื่อวางระเบียบในการบริหารจัดการข้อมูล โดยกฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ กฎหมาย PIPL กำหนดว่า บริษัทที่ประมวลผลข้อมูลไม่สามารถที่จะปฏิเสธการให้บริการแก่ลูกค้าที่ไม่ยินยอมให้จัดเก็บข้อมูลของตนเอง นอกเสียจากว่า ข้อมูลนั้นจำเป็นต่อการจัดหาผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับการโอนข้อมูลของพลเมืองจีนออกนอกประเทศ หากบริษัทใดละเมิดกฎหมายดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษด้วยการปรับ โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้

ผลกระทบและแนวโน้มในมุมมองของนักวิเคราะห์

กูรูจากหลายสำนักได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นหลังการจัดระเบียบธุรกิจของรัฐบาลจีนในมุมมองที่แตกต่างกันไป โดย Nicholas Borst รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยด้านจีน จากบริษัท Seafarer Capital Partners ที่ปรึกษาด้านการลงทุนมองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก ซึ่งถ้าหากการควบคุมของรัฐนั้นครอบงำภาคส่วนใดมากเกินไปหรือไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะทำลายพลวัตของผู้ประกอบการและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างแน่นอน ภาคธุรกิจที่รัฐควบคุมในระดับต่ำก็กำลังจะถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดขึ้นมาก โดยประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าบริษัทส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นเอกชน แต่อยู่ที่ว่าบริษัทเหล่านั้นควรต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของรัฐบาลจีน

ด้าน Larry Hu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของจีนที่ Macquarie Group ให้ความเห็นว่า การเข้าควบคุมด้านกฎระเบียบที่ดำเนินอยู่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ภาคเอกชนกำลังถูกบีบคั้น แต่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจเป็นระยะ โดยเมื่อต้นเดือนส.ค. เขาระบุว่า รัฐไม่สามารถเติบโตได้โดยลำพัง หากภาคเอกชนประสบปัญหา นั่นหมายความว่า ในบางครั้งรัฐจึงมีแนวโน้มที่จะปรับความสัมพันธ์กับภาคเอกชน เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกัน, สกัดความเสี่ยง หรือกลับมาควบคุมอีกครั้ง และการระดมออกกฎระเบียบในปีนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างล่าสุด

อย่างไรก็ดี George Magnus นักเศรษฐศาสตร์อิสระ ผู้ช่วยวิจัยประจำศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ School of Oriental and African Studies (SOAS) ในลอนดอนระบุว่า แนวทางที่ใช้อำนาจมากเกินไปของรัฐบาลจีนอาจส่งผลตรงข้ามกับที่คิดไว้ ทั้งยังฉุดรั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงชะลอการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่างๆ อาทิ การค้าปลีก-ค้าส่ง การขนส่ง และการจัดจำหน่าย ซึ่งภาคธุกิจเหล่านี้มีโอกาสขยายการเติบโตในเชิงผลิตภาพ (Productivity growth) Magnus ยังระบุว่า “จีนต้องการการเติบโตของผลิตภาพมากกว่าสิ่งอื่นใด ผมจึงคิดว่า การปราบปรามด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นการอิงกระแสประชานิยมพอๆ กับการขาดวิสัยทัศน์ในระยะยาว และอาจสร้างความเสียหายให้จีนในช่วงทศวรรษนี้”

…อนาคตของภาคธุรกิจจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจะเดินไปในทิศทางใดนั้นหลังจากนี้ คงไม่มีใครฟันธงได้ 100% เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภาคเศรษฐกิจและสังคมของจีนในรอบหลายปี แต่ที่แน่ๆ การที่รัฐบาลจีนยอม “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” ย่อมต้องประเมินถึงผลได้-ผลเสียมาแล้วพอสมควร หลังจากนี้อีกไม่นาน เราคงได้เห็นความเคลื่อนไหวจากจีนอีกหลายระลอก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top