น.พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานไทยแลนด์โฟกัส 2021 หัวข้อสัมมนา COVID-19 Lessons Learned and Future Directions ว่า แม้ประเทศไทยยังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มของการติดเชื้อรายวันทรงตัว พร้อมกับการเร่งเดินหน้าตรวจเชิงรุกประชาชนในกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อกันเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนและในครัวเรือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน ทำให้สามารถแยกผู้ติดเชื้อออกมาได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน จากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการที่ช่วยเหลือในด้านระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามารักษา ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะมีข้อจำกัดของจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์อยู่บ้าง แต่ยังมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันระบบสาธารณสุขไทยยังสามารถบริหารจัดการได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการที่จะผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ไปได้ นอกจากมาตรการควบคุมของภาครัฐ และความร่วมมือของประชาชนนั้น การระดมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับประชนได้มากที่สุด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 ลดลง และลดความเสี่ยงในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิติลดลงได้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีความท้าทายอยู่ในปัจจุบัน
กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าในการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการจัดการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วราว 21 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 30% ของประชาชนทั้งหมด และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว กว่า 6 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชาชนทั้งหมด ซึ่งการที่ประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นใจให้กับการจัดการโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกลับมา
“การเดินหน้าในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศพยายามทำให้ได้มากที่สุด แม้ว่าปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวในระดับสูง แต่มองว่าการที่ตอนนี้การเร่งและระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากขึ้น จะเป็นแรงส่งให้แนวโน้มการติดเชื้อในระยะต่อไปมีโอกาสลดลงได้ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงตามไปด้วย และทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้อย่างเร็วที่สุด”น.พ.โสภณ กล่าว
นอกจากนี้ ทางภาครัฐยังมีการเปิดหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เริ่มจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วให้เข้ามาท่องเที่ยวได้ภายใต้กฎระเบียบด้านสาธารณสุขเพื่อทดสอบระบบในการเตรียมตัวเปิดประเทศหากการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงชัดเจน ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้บ้าง โดยขณะนี้การเปิดแซนด์บ็อกซ์ได้ขยายไปยังจังหวัดอื่นด้วยรูปแบบการเชื่อมโยงกับภูเก็ต เช่น สมุย พังงา และกระบี่ เป็นต้น
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้ภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยพลิกกลับมาเป็นภาพโทนอ่อนตัวลงมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/64 และเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค. 64 ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพระบาด ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงไปค่อนข้างมาก นำไปสู่การที่ สศค.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เหลือ 1.3%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 64 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังจะไม่หดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมานั้น มาจากภาคการส่งออกของไทยที่ได้รับอานิสงส์บวกจากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็วเป็นกลุ่มประเทศแรกๆของโลก ทำให้อุปสงค์การบริโภคสินค้าและบริการต่างๆในสหรัฐฯและยุโรปกลับมา การส่งออกไทยจึงได้รับปัจจัยบวกไปด้วย ซึ่งมองว่าภาพการส่งออกไทยยังคงมีความแข็งแกร่งเพียงพอจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงครึ่งปีหลังได้
ในส่วนของภาคการบริโภคในประเทศ ถือเป็นปัจจัยที่สร้างได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ เพราะรายได้ของประชาชนลดลงจากที่ต้องหยุดงานชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ และทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับประชาชนยังมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3/64 ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเต็มไตรมาส
ขณะที่ภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยาออกมาเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในประเทศ และช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยที่มีวงเงินที่ภาครัฐจะใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทผ่านการดำเนินนโยบายการคลัง และมีเงินส่วนหนึ่งอีก 5 แสนล้านบาทที่จะมารองรับในการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในระยะต่อไป
สำหรับความหวังการฟื้นตัวของประเทศไทย ปัจจุบันยังคงคาดหวังกับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งทำให้สถานการณ์ในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ ประชาชนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติมากขึ้น และเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยพลิกฟื้นภาคบริการของไทยให้กลับมาเป็นเติบโต เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีต่อๆไป โดยที่ประเมินว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงได้ภายในสิ้นปี 64 ประเมิน GDP ไทยในปีหน้าจะเติบโตกลับมาได้ในระดับ 4-5%
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก แต่ภาคธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เพราะมาตรการเพื่อควบคุมโควิด-19 ของภาครัฐเริ่มจากการปิดการท่องเที่ยว ตามมาด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทชั่วคราว ทำให้ต้องปิดโรงงาน ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนการผลิต และกิจกรรมการค้าต่างๆ และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการบริโภคของประชาชน
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดมีรายได้ลดลงค่อนข้างมากถึง 30-50% คือ กลุ่มภาคบริการ เช่น การบิน โรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมสันทนาการที่ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานกว่า 1 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีความแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบน้อย เช่น อาหาร และโทรคมนาคม
อย่างไก็ตาม ภาคบริการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นอาจยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากคาดว่าการท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัวในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี 65 แต่ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก เพราะหากมองว่าจะเห็นการฟื้นตัวได้เต็มที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องกลับมาในระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปีกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังโควิดให้ได้ โดยได้แบ่งการเปลี่ยนแปลงเป็น 4 ด้าน คือ ด้านแรก คือ สังคมในอนาคตคนจะมีอายุยืนขึ้น ดังนั้นจะมีคนหลายรุ่นอยู่ในสังคม ซึ่งแต่ละวัยนั้นมีความต้องการของตัวเอง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยจำเป็นจะต้องปรับตัวและทำแผนให้ครอบคลุมความต้องการของคนรุ่นต่างๆ
ด้านที่สอง คือ คนจะมีความต้องการการท่องเที่ยวและประสบการณ์ที่หลากหลายเฉพาะตัวมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ทำให้ต้องทำแผนการตลาดก็ควรจะเข้าถึงความต้องการของคนกลุ่มนื้ และด้านที่สามที่เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ระบบการนำร่องหรือที่เรียกว่าเนวิเกชั่นซิสเต็ม การจองตั๋ว ที่พัก และบริการออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งควรจะนำเข้ามาใช้เพื่อให้นักท่องเที่ยววางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
ด้านสุดท้าย เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะได้รับความสนใจมากขึ้น และคนจะสนใจการป้องกันหรือการทำให้มีสุขภาพดีไว้เสมอมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะเปิดตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพมาก
“ไทยต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการออกแบบตลาดที่เหมาะกับลูกค้า สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ รวมทั้งธุรกิจที่มีอยู่ต้องแสวงหาผู้ร่วมทุน ผู้ร่วมกิจการที่มีความแข็งแกร่งในด้านทุน หรือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการตลาดเพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างเข้มแข็ง”นายสมประวิณ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, พิสิทธิ์ พัวพันธ์, สมประวิณ มันประเสริฐ, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร