สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เฝ้าระวังสถานการณ์การแข่งขันทางการค้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ 3 กลุ่มที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่
1. แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ 2. แพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ 3. แพลตฟอร์มบริการขนส่ง หลังพบว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจเหนือตลาดจำนวนเพิ่มขึ้น และได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ได้เร่งพัฒนาแนวทางปฏิบัติ (Guildline) ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ซึ่ง สขค.ได้ดำเนินการแล้วคือ การออกประกาศแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบการ อีคอมเมิร์ซที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 อย่างใกล้ชิด
นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ระบบเศรฐกิจดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการซื้อขายสินค้าและบริการเนื่องจากเป็นช่องทางที่รองรับได้ทั้งการค้าปลีก ค้าส่ง การบริการ การท่องเที่ยว ฯลฯ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด ด้วยการเข้าสู่ช่องทางดังกล่าว แต่ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กที่ไม่มีความสามารถมากพอในการแข่งขันก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งตลาดโดยรายใหญ่ที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่า นำมาซึ่งการมีโครงสร้างตลาดที่ขาดความสมดุลและมีแนวโน้มการผูกขาด ซึ่งจะนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ สขค. มีการติดตามพฤติกรรมธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 3 ประเภทแพลตฟอร์มข้างต้นที่ขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยพบว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม มีดังนี้
- แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ เช่น การกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดทางเลือกในการขนส่งสินค้า การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น หรือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคู่ค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การใช้ระบบอัลกอริทึมในการแข่งขันด้านราคาหรือการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
- แพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ เช่น การเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากร้านอาหารสูงขึ้นหรือค่า GP (Gross Profit) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและโฆษณาเพื่อแนะนำร้านในอัตราเพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- แพลตฟอร์มบริการขนส่ง เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิแฟรนไชส์ซี หรือการกำหนดเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังทำสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรสำหรับข้อร้องเรียนของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่ร้องเรียนพฤติกรรมที่เข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาด ซึ่งการร้องเรียนดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบสืบสวนสอบสวน หากพบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย
โดยกรณีที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบตามมาตรา 50 กรณีที่เป็นการตกลงร่วมกันกำหนดค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 54 ซึ่งมีโทษอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิดหรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่เป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า อันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 57 มีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10 % ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายตัวของธุรกิจออนไลน์อย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs สขค. จึงได้กำหนดแนวทางพิจารณการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ และในส่วนของการลดผลกระทบของ SMEs ได้มีการจัดทำแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 30-45 วันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจ SMEs
นอกจากนี้ สขค.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดธุรกิจ E-platform ประเภทอื่นๆ เพื่อพิจารณาการจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) เพิ่มเติมเพื่อใช้กำกับดูแลการแข่งขันได้อย่างครบถ้วนและสร้างมาตรฐานทางการค้าให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)
Tags: Food Delivery, คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์, อีคอมเมิร์ซ