ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยในวันนี้ว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อาจทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียราว 80 ล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจนขั้นรุนแรงในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายระดับโลกในจัดการความยากจนและความอดอยากภายในปี 2573
รายงานระบุว่า หากไม่มีโควิด-19 อัตราความยากจนขั้นรุนแรงของเอเชีย หรือสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวันจะลดลงเหลือ 2.6% ในปี 2563 จากระดับ 5.2% ในปี 2560 แต่วิกฤตดังกล่าวอาจผลักดันให้อัตราคาดการณ์ของปีที่แล้วสูงขึ้นกว่าเดิมราว 2%
ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงขึ้นอีก เมื่อพิจารณาถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และอาชีพการงานที่สูญเสียไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องจำกัดการเดินทาง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก
สมาชิกองค์กรสหประชาชาติ (UN) ลงมติรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการหรือที่รู้จักกันในชื่อ SDGs อย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 2558 และได้สร้างแผนงานสำหรับภารกิจต่างๆ ตั้งแต่การยุติความหิวโหยและความไม่เสมอภาคทางเพศ ไปจนถึงการขยายการเข้าถึงการศึกษา และการดูแลสุขภาพ โดยเป้าหมายดังกล่าวมีกำหนดเวลาจนถึงปี 2573
นายยาสุยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าวว่า “เอเชียและแปซิฟิกมีความก้าวหน้าที่น่าประทับใจ แต่โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่อาจบั่นทอนการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมของภูมิภาค”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 64)
Tags: ADB, lifestyle, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย, ประเทศกำลังพัฒนา, ผลกระทบโควิด-19, ยากจน, โควิด-19