บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ (CV) กำหนดราคาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 3.90 บาท โดยเสนอขายจำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เปิดจองซื้อในช่วงวันที่ 25-27 ส.ค.64 โดย บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่าย (Best Effort)
พร้อมแต่งตั้ง บล.อีก 5 รายเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ CV ประกอบด้วย บล.เคทีบีเอสที, บล.ไอร่า, บล.คันทรี่ กรุ๊ป, บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ และ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) โดยราคาหุ้นละ 3.90 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) เท่ากับ 32.5 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิใน 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัท (ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.63-30 มิ.ย.64) ซึ่งเท่ากับ 156.85 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้เท่ากับ 1,280 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาท (Fully Diluted Earnings per Share)
นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ CV ที่หุ้นละ 3.90 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมสะท้อนพื้นฐานและศักยภาพการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมแบบครบวงจร ทั้งการออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา ตลอดจนลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 15 ปี สร้างโอกาสเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต
นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CV กล่าวว่า การระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยวางเป้าหมาย 3 ปี ข้างหน้า (64-66) จะขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมุ่งเน้นลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านการพัฒนาโครงการเองหรือเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร รวมถึงเข้าซื้อกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย
ปัจจุบัน CV มีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ และมีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญารวม 23.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการและโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงค่อนข้างสูงในระยะยาว จากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ประกอบกับการขยายโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2 โครงการ 39.8 เมกะวัตต์ ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีกำลังการผลิตติดตั้ง จำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ภายในปี 64 และ 180 เมกะวัตต์ภายในปี 66
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายการลงทุนควบคู่กับงานด้านวิศวกรรม (Valued EPC) แบบครบวงจรในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพรวมถึงพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supporting) เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในธุรกิจโรงไฟฟ้า ผ่านการเข้าประมูลเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศตามแผน AEDP 2018 ส่งเสริมการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงาน EPC จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาถึงโอกาสทางธุรกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับ และพิจารณาจากฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นประกอบการพิจารณาเข้าลงทุนในแต่ละโครงการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
“แผนการเติบโตผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งลงทุนพัฒนาโครงการ และ/หรือเข้าลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ ลงทุนในธุรกิจสนับสนุนด้านเชื้อเพลิงซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงและต่อยอดซึ่งกันและกัน ประกอบกับสิ่งที่บริษัทฯ ได้ลงทุนมาก่อนหน้า เริ่มรับรู้แบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจากโรงไฟฟ้า CPX, RTB ซึ่ง COD แล้วตั้งแต่ปี 63 รวมถึงโครงการโรงคัดแยกขยะ จ.พิจิตร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ และสร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบให้โรงไฟฟ้าอื่น ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีนี้ รวมถึงการลงทุนในกิจการด้านงานวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มวิศวกรรมให้กว้างขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง”
นายเศรษฐศิริ กล่าว
นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ของ CV ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงานและฐานะการเงินเพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนต่างๆ จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านงานวิศวกรรม ที่ส่งมอบผลงานให้บริการด้านวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาหลายโครงการ ทำให้ CV มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง การออกแบบ การก่อสร้าง การเดินเครื่องจักร และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ซึ่งจุดแข็งดังกล่าว ทำให้ CV มีการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการควบคุมต้นทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้า ในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลตอบแทนจากการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้
นอกจากนี้ แหล่งที่มาของรายได้ CV ถือว่ามาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคง จากระยะเวลาทำสัญญาระยะยาว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา CV ได้ศึกษาโอกาสเข้าลงทุนซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงการเข้าลงทุนพัฒนาโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดผลการดำเนินงานของ CV และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอในอนาคต
ปัจจุบัน CV มีทุนจดทะเบียน 640,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,280,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 480,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 320,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและคืนเงินกู้ยืมกรรมการของกลุ่มบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 64)
Tags: CV, IPO, ดิถดนัย สังขะรมย์, หุ้นโรงไฟฟ้า, หุ้นไทย, เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล, โคลเวอร์ เพาเวอร์