นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/64 จะออกมาใกล้เคียงกับไตรมาส 2/64 ที่มีผลขาดทุน 685.97 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการบิน 966 ล้านบาท และอัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ที่ระดับ 62% เนื่องจากมาตรการของภาครัฐยังไม่ได้มีการผ่อนคลายมากขึ้น และจำนวนผู้โดยสารก็คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/64 แม้ว่าจะมีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส
และคาดว่าในปี 65 แนวโน้มผลประกอบการจะดีกว่าปี 64 หลังจากที่มีการกระจายวัคซีนได้มากขึ้น โดยบริษัทคาดว่าจะเริ่มเห็นประชากรมีภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 1/65 แม้ว่าจะยังไม่ได้ถึง 100% ก็ตาม
“ปี 65 ดีกว่าปี 64 เพราะเท่าที่ดูตัวเลขค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการระบาดรุนแรง จะเห็นความต้องการเดินทางค่อยๆ มีมากขึ้น ก็จะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ BA จะมีการวางแผนเส้นทางการบินต่อไป”นายอนวัช กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่าจะประเทศไทยจะค่อยๆ เปิดประเทศมากขึ้น และการเดินทางระหว่างประเทศจะกลับมาเป็นปกติภายในปี 66-67 สอดคล้องกับคาดการณ์ของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่มองว่าการเดินทางจะค่อยๆเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันการเดินทางภายในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมากข้น และการท่องเที่ยวภายในยุโรป ได้แก่ กรีซ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และโปรตุเกส มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ถึอเป็นสัญญาณที่ดี รวมทั้งมีการเดินทางจากทวีปอเมริกาเหนือไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากทั้งยุโรปและสหรัฐมีการฉีดวัคซีนใกล้ถึงระดับที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอจะค่อยๆ เปิดประเทศได้
ขณะที่ประเทศไทย มีการเปิดประเทศผ่านโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส เพื่อเป็นการเริ่มต้นรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ BA อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมียอดใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดจึงจะเหมาะสมที่จะกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งสายการบิน โรงแรม ศูนย์การค้า ก็ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้
ปัจจุบัน BA มีจำนวนเครื่องบิน 39 ลำ โดยปีนี้จะคืนเครื่องบินแอร์บัส A319 ให้ผู้ให้เช่า 1 ลำ และคืนเครื่องบิน ATR 72-500 อีก 2 ลำ ทำให้สิ้นปี 64 มีจำนวนเครื่องบิน 36 ลำ และในปี 65 ก็จะคืนอีก 6 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A319 อีก 1 ลำเละเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 5 ลำ ลำ ทำให้สิ้นปี 65 จะมีจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 30 ลำ
สำหรับกรณีบริษัทขอยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวสนามบินสมุยที่เหลืออายุสัญญาอยู่ประมาณ 15.5 ปีกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ปัจจุบันได้ทำรายการยกเลิกไปแล้ว โดยบริษัทจ่ายเงินคืนให้ SPF จำนวน 18,050 ล้านบาทเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา และกองทุนได้ปิดตัวและถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 โดยกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยเมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง BA ถืออยู่ 30% ซึ่งจะได้รับเงินปันผล 5,286 ล้านบาท
นายอนวัช กล่าวว่า หลังจากนี้ BA จะมีความคล่องตัวในการบริหารสนามบินสมุยที่บริษัทเป็นเจ้าของ โดยจะสามารถมาพัฒนาธุรกิจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ขณะเดียวกันในไตรมาส 3/64 จะมีการบันทึกรายการกำไรจากการถือเงินลงทุน SPF และผลขาดทุนจาการยกเลิกสัญญาด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของผู้สอบบัญชี
ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบีบีเอส (BBS) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ถือหุ้นในสัดส่วน 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือสัดส่วน 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือสัดส่วน 20% นั้น ได้มีการส่งแผนแม่บทให้กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)แล้วเมื่อกลางเดือน มิ.ย.64 และอยู่ระหว่างการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังใหม่
และตามกำหนการภาครัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้กับ UTA ในปี 65 หลังจากนั้นเริ่มก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 3 ปี โดยจุดคุ้มทุนโครงการนี้ใช้เวลานานเป็น 10 ปี เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)
Tags: BA, การบินกรุงเทพ, บางกอกแอร์เวย์ส, อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา