น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้นว่า คดีจีทูจียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ระบายข้าวจีทูจีล็อต 2 มีการตั้งไต่สวนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2-3 ราย และมีการกันพยานบุคคลอยู่ โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วทั้งหมด โดยบุคคลที่ถูกไต่สวนเพิ่มเติม 2-3 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกกล่าวหา
“คดีมันเส้นจีทูจี และระบายข้าวจีทูจียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.64 พยายามตั้งเป้าหมายให้แคบที่สุดเพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่เนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องบางรายไม่สามารถเข้าให้ปากคำได้”
น.ส.สุภา กล่าว
ส่วนกรณีชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก คดีปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เอื้อประบริษัท สยามอินดิก้า หรือคดีข้าวบูล็อคนั้นว่า คดีดังกล่าวมีการชี้มูลนายกิตติรัตน์กับพวก เนื่องจากตามทางไต่สวนมีการทักท้วงจากผู้ส่งออกข้าว 2-3 รายถึงวิธีการในการเปิดประมูลการปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซียดังกล่าวว่าอาจทำโดยมิชอบ เบื้องต้นได้ส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว ปัจจุบัน อสส.กำลังพิจารณาอยู่
คดีจีทูจียุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอยู่ 3 คดี ได้แก่ คดีระบายมันสำปะหลังจีทูจี ระบายข้าวจีทูจี และการประมูลข้าวเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากมีพยานเอกสารบางชิ้นไม่เหมือนกับตัวต้นฉบับ โดยเอกสารที่ส่งมายัง ป.ป.ช. ไม่ปรากฏลายเซ็นของบุคคลใดเลย จึงดำเนินการขอเอกสารตัวจริงอยู่ และรอเสนอเข้าที่ประชุมองค์คณะไต่สวนว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใครบ้าง และคดีนี้ยังไม่หมดอายุความ เนื่องจากมีอายุความ 20 ปี
ส่วนความคืบหน้าในการไต่สวนคดีสินบนข้ามชาติต่างๆ นั้น น.ส.สุภา กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างขอความร่วมมือ และติดต่อข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น คดีสินบนภาษีสุราดิอาร์จิโอ ข้อเท็จจริงในไทยครบถ้วนหมดแล้ว ขาดอย่างเดียวคือเส้นทางการเงินที่พบว่า มีการไปจ่ายกันที่ฮ่องกง และบางส่วนไปอยู่ที่สิงคโปร์ด้วย โดยต่างประเทศยังไม่ได้ให้ข้อมูลส่วนนี้มา
สำหรับคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ในส่วนของ บมจ.การบินไทย (THAI) ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่องจากผู้ที่กำลังจะถูกชี้มูลขอเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า การไต่สวนเรื่องที่รับไว้ก่อนปี 2561 ได้ดำเนินการไต่สวนทั้งหมด แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่สู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.น่าจะเหลือประมาณ 600 เรื่อง แบ่งเป็นไต่สวนเสร็จแล้วส่งสำนวนมารอการพิจารณาคณะกรรมการ ป.ป.ช.กว่า 200 เรื่อง อีก 400 เรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวน และได้มอบสำนักงาน ป.ป.ช.ตรวจสอบรายละเอียดแต่ละเรื่องถึงลำดับความเป็นมา การดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่าดำเนินการไปอย่างไร ครบถ้วนหรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคตรงไหน เป็นต้น
“แม้ตามกฎหมายใหม่บอกว่าต้องไต่สวนให้เสร็จภายใน 2 ปีขยายได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ข้อเท็จจริงการทำงานของ ป.ป.ช. การรวบรวมพยานหลักฐาน การอำนวยความยุติธรรม ไม่อาจทำได้แบบบัญญัติไตรยางศ์ตรงๆ ใน 2-3 ปี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน พยานบุคคล และการขอความเป็นธรรม โดยตามกฎหมายสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตามคำขอ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ส่วนความคืบหน้ากรณีการไต่สวนการปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องคดีกล่าวหานายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 55 นั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ดำเนินการตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว มีผู้ถูกกล่าวหา 15 ราย และมีการพิจารณาโดยองค์คณะไต่สวน กำหนดระยะเวลาว่า ทำอะไรได้บ้าง และมีการเสนอแผนการไต่สวนทั้งหมดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน เพราะต้องรอข้อมูลที่ขอจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสอบปากคำอีกหลายปาก ยังมีประเด็นที่ก้าวไปได้อยู่ เพราะว่าเกี่ยวข้องกับบุคคล ในส่วนที่ยังขาดพยานหลักฐาน จะเร่งรัดดำเนินการ ส่วนผลการดำเนินการคงไม่สามารถพูดได้ว่าใคร ผู้สื่อข่าวคงรู้ แต่เรื่องนี้มาจากผลการสอบสวนของนายวิชา มหาคุณ (อดีตกรรมการ ป.ป.ช.) และต้องขอข้อมูลจาก อสส. รวมถึงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในส่วนการกระทำที่เกี่ยวข้องกับวินัย
ส่วนความคืบหน้าการไต่สวนโครงการเสาไฟประติมากรรมทั่วประเทศนั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีการตั้งเรื่องไต่สวนแล้ว 17 เรื่อง อยู่ระหว่างไต่สวน 5 เรื่อง อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 3 เรื่อง และออกเลขดำ (ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน) แล้ว 9 เรื่อง มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารคดีรับเรื่องนี้ไป โดยให้ดำเนินการทั้ง 17 เรื่องออกไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ วินิจฉัยว่าบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายวิษณุ เครืองาม กรณีดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อปี 62 ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เบื้องต้นมีการปรึกษากับคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. รวมถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายต่างๆ และศึกษาตามรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่า มีการระบุถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ ไม่ใช่จะเปิดเผยได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญมาก อภิปรายเรื่องนี้กันเยอะ โดยการวินิจฉัย พ.ร.บ.ป.ป.ช. กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ อาจไม่ตรงกัน แต่ของ ป.ป.ช.การบอกให้ยื่นเป็นหลักฐานเท่านั้น
“แค่เราจะไปตรวจ ยังไปตรวจไม่ได้เลย ได้แค่เก็บไว้ แต่ถ้ามีการอ้างถึงเมื่อไหร่ ถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ เรามีหน้าที่แค่เก็บ และไม่ได้มีแค่สองท่านนี้ ยังมีอีกหลายคนยื่นในลักษณะเป็นหลักฐานเช่นกัน ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเราจะถูกดำเนินคดีด้วยเหมือนกัน ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเปิดเผยกรณียื่นเป็นหลักฐาน และจะชี้แจงไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯว่า การตีความข้อกฎหมายของท่านกับเราไม่เหมือนกัน เราดำเนินการตามบทบัญญัติต่างกัน มีความรับผิดชอบทางอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)
Tags: กิตติรัตน์ ณ ระนอง, คดีระบายข้าวจีทูจี, จีทูจี, ป.ป.ช., สุภา ปิยะจิตติ