ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ”
ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนด และ/หรือเพื่อการลงทุน และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ
อันดับเครดิตมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีภาระหนี้ในระดับต่ำและมีสำรองเงินสดจำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงทางธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทอันเกิดจากธุรกิจหลักคือบริการขนส่งสินค้าแห้งเทกองทางเรือและบริการงานวิศวกรรมนอกชายฝั่งที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงอีกด้วย
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งโดยมีพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทานที่มีแนวโน้มดีในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าประกอบกับผลการดำเนินงานที่มีพัฒนาการในเชิงบวกของธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– ธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองเติบโตดีมากในปี 2564 ผลการดำเนินงานของธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองของบริษัทดีขึ้นเป็นอย่างมากจากผลของอัตราค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากทั้งอุตสาหกรรมเกิดภาวะชะงักงันจากการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องในอีกหลายไตรมาสข้างหน้าโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะอุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรม
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดัชนีค่าระวางเรือ Baltic Supramax Index (BSI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,910 จุดจาก 548 จุดในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือ (Time Charter Equivalent — TCE) โดยเฉลี่ยของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าโดยอยู่ที่ 14,872 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำเมื่อเทียบกับ 7,662 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าระวางเรือจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากต่อไปตลอดปี 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เป็นไปอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและภาวะแออัดของท่าเรืออันเป็นผลเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะส่งผลต่ออุปทานโดยรวมต่อไปในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ในขณะที่การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในอุตสาหกรรม
ในขณะที่ในด้านของอุปทานนั้น ปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนการสั่งต่อเรือใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำ ความล่าช้าของการส่งมอบเรือใหม่ รวมถึงกฎเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีความแน่นอนจะยังคงทำให้การเติบโตของอุปทานในด้านบริการเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองจะอยู่ในระดับไม่สูงในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าค่าระวางเรือโดยเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 17,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระหว่าง 11,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในช่วงปี 2565-2566
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคาดว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในช่วงปี 2564-2566 รายได้จากธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และจะอยู่ที่ 8.5-9.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทนั้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 28% ในปี 2564 และที่ระดับ 19%-21% ในช่วงปี 2565-2566
– ธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งมีพัฒนาการในเชิงบวก ธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของบริษัทดำเนินงานโดย บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 58.2% นั้นเริ่มมีสัญญาณให้เห็นถึงผลการดำเนินงานในทางที่ดีขึ้นจากความพยายามในการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทลูกดังกล่าวได้กลับมาให้บริการงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลอีกครั้งหลังจากคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์กลับมาร่วมงานกับบริษัทอีก และบริษัทได้มีการลงทุน 50% ในเรือที่ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญในการทำธุรกิจนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามที่จะขยายธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งไปยังภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกอีกด้วยโดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งได้รับงานสำรวจมา 1 โครงการในประเทศแองโกลา ในขณะเดียวกัน บริษัทยังกำลังขยายงานสู่ธุรกิจด้านวิศวกรรม จัดซื้อ ก่อสร้าง และติดตั้ง (Engineering, Procurement, Construction, and Installation — EPCI) เพื่อให้บริการทั้งงานติดตั้งและรื้อถอนทั้งบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งในเขตพื้นที่อ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบที่จำนวนทั้งสิ้น 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง 63% มาจากงานให้บริการสำรวจ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาใต้ทะเล (Inspection, Repair, and Maintenance — IRM) และอีก 37% มาจากงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล โดยจะรับรู้และเป็นฐานรายได้ให้แก่บริษัทที่จำนวน 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จำนวน 139 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 และจำนวน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบแล้ว ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 และประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราการใช้งานของเรือที่ทำงานอยู่ 2 จากทั้งหมด 3 ลำในระดับสูง และคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายยิ่งขึ้นและการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2%-6% ในช่วงปี 2564-2566
อย่างไรก็ดี บริษัทมีความเสี่ยงจากการที่สัญญาให้บริการ IRM ของเรือ “Mermaid Asiana” จะหมดอายุลงในปลายปี 2565 และบริษัทจำเป็นจะต้องเข้าร่วมการประมูลเพื่อต่อสัญญางานให้บริการกับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งในตะวันออกกลางซึ่งหากบริษัทไม่ได้รับการต่อสัญญาก็จะส่งผลกระทบในด้านลบต่ออัตราการใช้ประโยชน์ของเรือและความแน่นอนของรายได้ในอนาคต
– ความเสี่ยงจากธุรกิจที่มีความผันผวน ความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทมาจากการที่ธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทคือธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งนั้นมีความผันผวนและเป็นวงจรขึ้นลง ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าวมีสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายโดยเฉลี่ยให้แก่บริษัทประมาณ 70%-80% ของกำไรดังกล่าวทั้งหมด
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองมีความผันผวนคือการมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากและธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่สถานการณ์ที่มีอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่องและส่งผลกดดันต่อค่าระวางเรือในอดีต ในขณะที่ลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงยังเป็นปัจจัยที่เพิ่มความผันผวนให้แก่ผลการดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งนั้น อุปสงค์ที่มีต่อบริการของบริษัทขึ้นอยู่กับระดับและทิศทางของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนในเรื่องของทิศทางราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจในระยะสั้นถึงปานกลางต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าซึ่งส่งผลทำให้ความสามารถในการต่อรองของบริษัทในเรื่องการทำสัญญาให้บริการมีข้อจำกัดอีกด้วย โดยที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับการต่ออายุสัญญาจ้างของลูกค้าเพียงไม่กี่รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง
– รายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ยังมีขนาดเล็ก บริษัทยังมีความพยายามที่จะเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจเพื่อที่จะช่วยลดความผันผวนจากธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทอีกด้วย โดยบริษัทได้ลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความผันผวนน้อยกว่า เช่น ธุรกิจปุ๋ยเคมีทางการเกษตร ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริหารจัดการน้ำ และธุรกิจโลจิสติกส์ แม้ว่าธุรกิจปุ๋ยเคมีทางการเกษตรจะสร้างกระแสเงินสดที่ดีอย่างต่อเนื่องและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มก็เป็นไปด้วยดี แต่ธุรกิจอื่น ๆ ก็ยังไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่มีนัยสำคัญต่อกลุ่มบริษัทมากนัก
ในระหว่างปี 2564-2566 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจปุ๋ยอยู่ที่ 2.8-3 พันล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 5%-7% ในขณะที่ธุรกิจอาหาร รายได้หลักมาจากธุรกิจร้านพิซซ่า ฮัท ซึ่งบริษัทเริ่มได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดจากจำนวนร้านที่มากขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีจำนวนร้าน 172 ร้าน โดยบริษัทมีแผนขยายสาขา 15-20 สาขาต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากพิซซ่า ฮัท 1.8-2.5 พันล้านบาทต่อปี และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 9%-10%
– สถานะทางการเงินที่แข็งแรง การที่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงและมีเงินสดในมือจำนวนมากเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานที่ผันผวน และด้วยผลการดำเนินงานที่ดี ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงแข็งแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2564-2566
สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะมีรายได้รวม 1.85-2.05 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยที่บริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 17% ในปี 2564 และ 11%-13% ในปี 2565-2566 ซึ่งจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 2.1-2.6 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566 และจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาทในปี 2564 และ 1.5-2 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566
สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาทในปี 2564 โดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับซื้อเรือขนส่งสินค้ามือสองจำนวน 1 ลำ และใช้ลงทุน 50% เรือที่ใช้สำหรับงานวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล และคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566 โดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับซื้อเรือขนส่งสินค้ามือสองจำนวนรวม 3 ลำและใช้เพื่อลงทุนในธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ต่ำกว่า 1 เท่าในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 2 เท่าในปี 2566
ตามข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของตราสารหนี้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่า โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 0.06 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ
– สภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัทมาจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 7.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 3.8 พันล้านบาทรวมทั้งเงินที่คาดว่าจะได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ที่จำนวน 2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 3.4 พันล้านบาทและแผนการลงทุนที่ประมาณ 3-3.5 พันล้านบาท
– ความเสี่ยงจากการด้อยสิทธิของหุ้นกู้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 8.8 พันล้านบาทโดยเป็นหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 5 พันล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีการค้ำประกันของบริษัทลูก บริษัทจึงมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 58% อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะลดระดับอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมให้ลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% ภายในสิ้นปี 2564 นี้ นอกจากนี้ การที่บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับต่ำจึงทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้ของบริษัทไม่ได้มีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB” ในปัจจุบัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
– ค่าระวางเรือโดยเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ 17,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ระหว่าง 11,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันต่อลำในระหว่างปี 2565-2566
– ธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งจะมีรายได้รวม 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 จำนวน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 และจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566
– รายได้จะอยู่ที่ระดับ 1.85-2.05 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
– อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 17% ในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 11%-13% ในระหว่างปี 2565-2566
– เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากซึ่งจะมีแนวโน้มของอุปสงค์และอุปทานที่น่าพอใจในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าประกอบกับการมีพัฒนาการในเชิงบวกของธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องยาวนานหรือจากการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)
Tags: TTA, ทริสเรทติ้ง, หุ้นไทย, โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์