นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า รัฐบาลควรเดินหน้าคลายล็อกดาวน์ทุกพื้นที่ในบางกิจกรรม หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่ำกว่าผู้ได้รับการรักษาหายป่วยมากพอ และสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องรักษาในระบบสาธารณสุขลดลงมาเหลือต่ำกว่า 100,000 รายจากปัจจุบันอยู่ที่ 200,339 ราย
จากระบบสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรต้องจัดการความเสี่ยงด้านอุปทานเพิ่มขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลของรัฐตามความเสี่ยงของประชากรที่ขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลต่างๆ นั่นคือ ผู้ให้บริการในพื้นที่เสี่ยงสูงและต้องดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ควรจะเหมาจ่ายต่อหัวสูงกว่าผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ไม่ควรกำหนดการเหมาจ่ายแบบคงที่ทั่วทั้งประเทศ
“หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายล็อกดาวน์ เพราะตัวเลขติดเชื้อไม่ลดลง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และต้องล็อกดาวน์ไปอีกอย่างน้อยจนถึงปลายปีในขณะที่รอฉีดวัคซีนอยู่นั้น รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณจ่ายเยียวยาให้ภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มเติม และควรประกาศล่วงหน้า และเยียวยาทันทีก่อนสั่งปิดพื้นที่หรือกิจกรรม เพื่อไม่ให้ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจรุนแรงไปกว่าระดับวิกฤติในขณะนี้ โดยควรเตรียมเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่าอีก 300,000 ล้านบาท หากต้องล็อกดาวน์ถึงปลายปี” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมเห็นว่า การคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศอย่างมียุทธศาสตร์นั้น ต้องเริ่มต้นอยู่บนพื้นฐานของการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศและโลกได้อย่างถูกต้องด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและศรัทธาต่อข้อมูลข่าวสารและระบบการสื่อสารโดยภาครัฐ อย่าปิดกั้นความเห็นต่างที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ หรือมองเพื่อนร่วมชาติด้วยสายตาหวาดระแวง
รัฐบาลต้องศึกษาบทเรียนจากความล้มเหลวจากการคลายล็อกดาวน์ในสองครั้งที่ผ่านมาว่าเกิดจากปัจจัยอะไร และเร่งแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก การเปิดพื้นที่และการเปิดบางกิจกรรมต้องกำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องผ่านการฉีดวัคซีน มีผลการตรวจเชื้อ ในบางกิจกรรมรัฐต้องจัดให้มีการสนับสนุนการตรวจหาเชื้อด้วย ไม่ควรผลักภาระให้เอกชนต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว โดยเฉพาะกิจการ SME ที่มีการจ้างงานในระบบมากกว่า 12 ล้านคน ครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบริษัท ควรมีการสนับสนุนโดยงบประมาณของรัฐบางส่วน ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากประมาณเพียงไม่กี่พันบริษัท มีความสามารถประคับประคองตัวเองได้ และมีงบประมาณมากพอในการดูแลให้การดำเนินการต่าง ๆ ของกิจการเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่รัฐต้องคลายล็อกให้บริษัทเหล่านี้ประกอบกิจการหรือธุรกิจได้โดยกำหนดเงื่อนไขทางด้านสาธารณสุขเอาไว้
พร้อมกันนี้ จำเป็นต้องกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เพราะหลายจังหวัดยังได้รับวัคซีนน้อยถึงน้อยมาก หากเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้เลย เพราะสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่ำมากๆ และระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้มีความพร้อมเช่นเดียวกับจังหวัดใหญ่ๆ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และโรคระบาดอุบัติใหม่ และการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก การปฏิรูปการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสาธารณสุข และบริการสุขภาพใหม่มีความจำเป็น การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่การปฏิรูปต้องมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพโดยไม่ไปลดความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้บริการ และสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของประชาชนภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 และไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก
โดยวิธีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม คือ การแบ่งแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการสุขภาพออกจากกัน การจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายต่อหัว (Capitation) มากขึ้น การกำหนดให้มีการ Contracting-out การทำ self-governing hospital เป็นต้น การปฏิรูปแนวทางนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณผ่านตลาดภายในของบริการสุขภาพเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการลดลงของคุณภาพในการให้บริการโดยการกำหนดธรรมาภิบาลในทางคลินิกเพื่อให้ได้คุณภาพที่เป็นมาตรฐาน คุณภาพที่เป็นมาตรฐานหมายถึง รักษาและบริการสุขภาพอย่างถูกต้องให้กับผู้ป่วยที่สมควรได้รับในเวลาที่เหมาะสม และต้องพยายามทำทั้งหมดนี้ให้ได้ในครั้งแรกสำหรับผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วย
นายอนุสรณ์ กล่าว่า รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อปิดจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพไทย ดังนี้ การลดความซ้ำซ้อนการบริหารจัดการสุขภาพในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ลงทุนทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางด้านสุขภาพทั้งระบบโดยเฉพาะข้อมูลด้านอุปสงค์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นทางด้านการเงินการคลังว่าจะหาเงินและงบประมาณมาจากไหน เนื่องจากรายจ่ายทางด้านสาธารณสุขและบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสังคมผู้สูงอายุและผลกระทบของโรคระบาด ซึ่งการเก็บภาษีผ่านกรมสรรพากร หรือเก็บเงินสมทบผ่านสำนักงานประกันสุขภาพ ผลของการสนับสนุนทางการเงินอาจแตกต่างกันได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 64)
Tags: อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย