นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษาของรัฐบาลว่า ในส่วนของเงินเยียวยานักเรียนนั้น รัฐบาลจะจ่ายให้นักเรียนทุกคน ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับอนุบาล-ม.ปลาย และ ปวช./ปวส. ทั่วประเทศ คนละ 2,000 บาท โดยหลังจากกระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณแล้ว จะโอนเงินให้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนเอกชน/กศน.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เขตพื้นที่การศึกษาของรัฐ) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (วิทยาลัย อาชีวศึกษา/เทคนิค) ภายใน 5-7 วัน ซึ่งผู้ปกครองสามารถตรวจสอบสิทธิกับสถานศึกษาถึงวิธีการรับเงิน ทั้งผ่านเลขบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือรับเงินสด โดยคาดว่าจะได้รับเงินภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้มีอยู่จำนวนกว่า 11 ล้านคน แบ่งเป็น สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวม 9.8 ล้านคน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อีก 1.2 ล้านคน งบประมาณดำเนินการรวม 22,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นผู้ปกครอง และนักเรียน นักศึกษา สามารถตรวจสอบสิทธิกับสถานศึกษา หรือโรงเรียนของรัฐตรวจสอบสิทธิและข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) https://student.edudev.in.th และในส่วนของโรงเรียนเอกชน สามารถตรวจสอบสิทธิและข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) https://opec.go.th
โฆษก ศบศ. กล่าวว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ , โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38.25 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 66,150.3 ล้านบาท แบ่งเป็น
- โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.68 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 59,183.6 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 30,049.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 29,134.1 ล้านบาท
- โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 68,157 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,352 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 38 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,234.5 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.01 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 342.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเร่งเชื่อมระบบแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่กับโครงการ “คนละครึ่ง” คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้ทันกับการรองรับการโอนเงินคนละครึ่ง รอบ 2 อีก 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มควบคู่ไปกับการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19
ส่วนความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมดำเนินการ 2 มาตรการหลัก ได้แก่
- มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ความคืบหน้ามีสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติแล้ว 92,316 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 30,194 ราย โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1 ล้านบาทต่อราย
- มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 10,510.61 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 65 ราย
ทั้งนี้ 2 โครงการ เป็นมาตรการที่รัฐบาลตอบสนองต่อภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น เสริมสภาพคล่องและการลงทุน สนับสนุนวงเงินในการดูแลสินทรัพย์ให้ภาคธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงยังสามารถกลับมาทำธุรกิจตามปกติ หลังจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรี 23 มีนาคม 2564 ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ธนกร วังบุญคงชนะ, ศบศ., เงินเยียวยา, โควิด-19