นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า บริษัทคาดกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 64 จะเติบโตกว่าปีก่อน หลังจากงวดครึ่งปีแรกมี EBITDA อยู่ที่ 2,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี EBITDA อยู่ที่ 1,655 ล้านบาท เนื่องจากสามารถรักษาระดับการทำกำไรจากการบริหารโรงไฟฟ้าได้ดี แม้จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าตามแผนบางส่วน
สำหรับโรงไฟฟ้าที่จะปิดซ่อมบำรุงรักษาตามแผนในครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้า BLCP Unit 1-2 รวม 63 วัน ในไตรมาส 4/64, โรงไฟฟ้า HPC Unit 3 จะปิดซ่อมบำรุง 22 วัน และ Unit 1 ปิดซ่อมบำรุง 50 วัน, โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น จะปิดซ่อมประจำปีรวม 110 วัน, โรงไฟฟ้า CHP LUANNAN จะปิดซ่อมบำรุง Unit ที่ 4 ราว 20 วัน และ Unit ที่ 2 จำนวน 30 วัน, CHP ZHENDING จะปิดซ่อมบำรุง Unit 2 จำนวน 15 วัน Unit 1 ราว 8 วัน และ Unit 3 และ 4 รวม 10 วัน, CHP ZOUPING จะปิดซ่อมบำรุง Unit 1 ราว 10 วัน Unit 3 ราว 3 วัน และ Unit 4 ราว 5 วัน
นอกจากนั้น ในครึ่งปีหลังนี้บริษัทยังเตรียมรับรู้กำลังการผลิตใหม่เพิ่มอีกกว่า 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 384 เมกะวัตต์ ปัจจุบันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว พร้อมสร้างกระแสเงินสดได้ทันที คาดว่าการลงทุนในครั้งนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/64
ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการ COD ในช่วงไตรมาส 3/64 ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม กำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่ BPP เข้าลงทุนก่อนหน้านี้จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/64 เช่นกัน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและคาดว่าจะ COD ภายในปีนี้มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในช่วงไตรมาส 3/64 รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/64
บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการอยู่หลายแห่งในธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานทดแทนเพื่อเข้ามาต่อยอดกับธุรกิจที่มีอยู่และสร้างกระแสเงินสดทันทีในประเทศที่บริษัทมีการลงทุนอยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น โดยวางงบลงทุนราว 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ
ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 64 บริษัทยังมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมี EBITDA 2,399 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย BPP ยังคงเป้ามุ่งขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 68
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)
Tags: BPP, กิรณ ลิมปพยอม, บ้านปู เพาเวอร์, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า