ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน
และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย
คดีนี้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ และ รฟม.กรณีออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา)
เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในครั้งนี้ไปแล้ว
โดยมติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหานี้ได้
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
พร้อมกันนี้ให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ต.ค.63 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นสิ้นผลบังคับลงไปด้วยนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: BTSC, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, ศาลปกครองสูงสุด