นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทว่า เป็นการจัดทำงบประมาณด้วยความประมาท ขาดวิสัยทัศน์ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้ มีการตั้งงบประมาณไว้สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจน้อยมาก แต่กลับมีงบประมาณไปจัดซื้ออาวุธยุโธปกรณ์ และจัดทำถนนจำนวนมาก ซึ่งมีการปรับลดงบประมาณในหมวดดำเนินงานมากที่สุด โดยปรับลดไป 30-40% และพบว่าหน่วยงานราชการ ไม่มีตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในงบประมาณตั้งแต่ ปี 63-65 ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปแก้ไขหรือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างไร และหากวันนี้มีการลงมติให้ร่างงบประมาณรายจ่ายปี 65 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีงบประมาณฯ ไปดำเนินการตามนโยบายได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง เพราะไม่มีการตั้งงบประมาณดำเนินการตามนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตนจึงขอให้มีการปรับลดประมาณไว้ 4% หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
นายวรวัจน์ ได้แจกแจงลงไปในนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง โดยได้หยิบยกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เรื่องราคาข้าวหอมมะลิ กิโลกรัมละ 18,000 บาท ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ และไม่มีการกำหนดนโบายไว้แก้ปัญหาแต่อย่างใด หรือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400-425 บาท ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงเงินเดือนระดับปริญญาตรี 20,000 บาท เป็นต้น
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งเรื่องนโยบายเงินสำหรับเด็กแรกเกิด 5,000 บาท และได้เงินอีกเดือนละ 1,000 บาทจนถึงอายุ 8 ปี หรือนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท หรือผลักดันราคายางกิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนพรรคภูมิใจไทย เช่น นโยบายเงิน อสม. เดือนละ 2,500-10,000 บาท ซึ่งการที่ตนขอปรับลดงบประมาณลง 4% เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณไปทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ และนำไปช่วยเหลือประชาชนก่อน
“การลงมติวันนี้ ไม่ใช่งบประมาณทั่วไป แต่ต้องทำตามสัญญาไว้ในวันเลือกตั้ง วันนี้ประชาชนเรียกร้อง เพราะว่าพี่น้องลำบากมาก อยากให้รัฐบาลจัดงบประมาณไปแก้ปัญหาไม่ใช่ไปซื้ออาวุธ ไม่ใช่ไปซื้อเครื่องบิน หรือสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อประชาชน และยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนงบประมาณไปช่วยประชาชนโดยตรง”
นายวรวัจน์ กล่าว
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า ได้ขอสงวนความเห็นปรับลดประมาณลง 10% หรือ ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท เพื่อลดการขาดดุลของประเทศ ซึ่งในฐานะที่ทำหน้าที่ในกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงจัดทำงบประมาณใช้ไม่ได้ เพราะไม่พิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะมีการอ้างว่าได้มีการพิจารณาตั้งแต่ช่วงม.ค.-ก.พ.แล้ว แต่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะการจัดทำงบประมาณปี 65 ไม่สมดุลกับเหตุการณ์บ้านเมือง
“การจัดทำงบประมาณแบบนี้เรียกว่า การจัดงบเละเทะ ไม่สนใจโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน และจะผ่านให้งบ 3.1 ล้านล้านได้อย่างไร ต้องตัดลดลงไป 10%”
นายจิรายุ กล่าว
ส่วนการกู้เงินไปแล้ว 1.7 ล้านล้านบาท ตั้งแต่การระบาดตั้งแต่ระลอกที่ 1 จนถึงปัจจุบัน และยังตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท และงบสาธารณสุขก็ยังน้อย วัคซีนก็ไม่เพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: งบประมาณปี 65, งบประมาณรายจ่าย, จิรายุ ห่วงทรัพย์, วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล