ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,515 ราย โดยมีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 13,843 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,520 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,730 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 248 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 17 ราย โดยยังคงพบการเดินทางเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ
- เสียชีวิต 312 ราย เพศชาย 174 ราย หญิง 138 ราย อายุ 28-102 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 65 ปี โดยเป็นผู้เสียชีวิตในกทม. 78 ราย และ ปริมณฑล 70 ราย และกระจายตามจังหวัดต่างๆ
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 968,957 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 22,682 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 8,285 ราย ยังคงมีผู้รักษาตัวอยู่ 207,553 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,458 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,155 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 209,377,555 ราย เสียชีวิต 4,394,676 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 37,896,582 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,285,101 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,417,204 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,642,559 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 6,504,978 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 34
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกเริ่มกลับรุนแรงอีกครั้ง จากการคลายล็อกมาตรการ และจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา เช่น ในสหรัฐฯ ที่เคยมียอดผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าวันละหมื่นรายกลับมาเป็นวันละแสนราย แม้จะมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนได้มากถึง 55% ของประชากรแล้วก็ตาม
ส่วนสถานการณ์ในประเทศพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด ยกเว้น จังหวัดสุพรรณบุรี โดยวันนี้มียอดเสียชีวิตมากสุดเท่าที่เคยมีการรายงาน เนื่องจากบางจังหวัด เช่น ลพบุรี และชลบุรีเป็นยอดสะสมจากช่วง 2-3 วันก่อนที่รอการยืนยันการเสียชีวิต
ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ยังกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เป็นหลัก แต่แนวโน้มการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ทรงตัวในระดับสูง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง หลังมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงและเร่งตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อด้วย ATK
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้เสนอแนะให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมความพร้อมในเรื่องการทำสถานที่แยกกัก (Commpany Isolation) เพื่อรองรับกรณีมีพนักงานติดเชื้อ โดยไม่ต้องรอให้พบการติดเชื้อก่อน
นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทางการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เพื่อให้ทุกคนเกิดการระมัดระวังตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา โดยให้คิดอยู่เสมอว่าทุกคนอาจเป็นผู้ติดเชื้อแฝงที่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น, รักษาระยะห่างจากคนอื่น, สวมหน้ากากตลอดเวลาหากอยู่เกินกว่า 2 คน, ล้างมือบ่อยๆ, เลี่ยงใช้มือสัมผัสหน้ากาก, หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเลี่ยงออกจากบ้าน, ทำความสะอาดพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ, แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด, กินอาหารที่ร้องหรือปรุงสุกใหม่, หากสงสัยว่าเสี่ยงติดเชื้อให้ตรวจด้วย ATK
สำหรับการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศ หรือราว 50 ล้านคนภายในปีนี้ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ทำให้มีแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส โดยส่วนหนึ่งเป็นวัคซีนซิโนแวก เนื่องจากผู้ผลิตวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไม่สามารถส่งมอบให้ได้ภายในปีนี้ตามที่ตกลงไว้ ขณะที่กำลังการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะอยู่ที่เดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น โดยจะเร่งฉีดให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้มีการรายงานการติดเชื้อในกลุ่มเด็ก โดยปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อไปแล้ว 15,000 ราย และข้อมูลระหว่างที่ 14 พ.ค- 16 ส.ค พบเด็กที่เสียชีวิตระหว่างอายุ 12-20 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงได้มีแนวทางให้เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว
พร้อมตอบข้อซักถามกรณีมีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดสว่า เนื่องจากทาง จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไม่สามารถส่งวัคซีนให้ได้ภายในไตรมาส 4 อีกทั้งกำลังการผลิตของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เดิมคาดว่าจะได้ 10 ล้านโดส แต่กลับลดเหลือ 5-6 ล้านโดส จึงทำให้มีความจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาดไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19