บมจ.ไทยคม (THCOM) ชี้แจงกรณีที่ปรากฏข่าวโดยมีการอ้างอิงข้อมูลจากนักวิชาการว่ามีหลักฐานสำคัญที่เรากำลังจะสูญเสียสมบัติชาติในอวกาศหรือไม่ โดยระบุว่าดาวเทียมไทยคม 7 นอกจากจะเป็นดาวเทียมนอกสัมปทาน ภายใต้ใบอนุญาตที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเป็นการนำดาวเทียมสัญชาติอื่นมาใช้ในวงโคจรซึ่งเป็นสิทธิของประเทศไทย
THCOM ชี้แจงว่า วงโคจรดาวเทียมในอวกาศไม่ได้เป็นสิทธิขาดของประเทศใดประเทศหนึ่งมาตั้งแต่ต้น โดยต้องยื่นคำขอต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และประสานงานในการใช้งานคลื่นความถี่กับประเทศอื่นด้วย หลายประเทศสามารถมีสิทธิใช้งานร่วมกันได้ และจะถูกยกเลิกสิทธิหากไม่มีดาวเทียมขึ้นใช้งานภายในเวลาที่กำหนด
โดยบริษัทได้รับการมอบหมายจากกระทรวง ไอซีที (กระทรวงดีอีเอสในปัจจุบัน) ให้ช่วยดำเนินการในการรักษาสิทธิ วงโคจรของประเทศไทยที่กำลังจะหมดอายุในขณะนั้น จนดำเนินการสำเร็จ ซึ่งตำแหน่งวงโคจรของไทยคม 7 นั้นไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยทั้งประเทศไทยและประเทศจีนต่างได้รับสิทธิในการใช้วงโคจรดังกล่าวโดยแยกจากกัน
การดำเนินโครงการดาวเทียมไทยคม 7 เป็นการดำเนินการโดยสร้างดาวเทียมร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับผู้ประกอบการของจีน โดยมีกรรมสิทธิของดาวเทียมกันคนละส่วน คล้ายกับการสร้างบ้าน 2 หลัง เป็นบ้านแฝดที่ผนังติดกัน บนโฉนดที่ดินของแต่ละฝ่าย ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยก็ใช้ดาวเทียมส่วนที่เป็นของไทย และใช้สิทธิในการใช้วงโคจรที่เป็นของไทย (เปรียบเหมือนส่วนของบ้านแฝดที่เป็นของไทยก็อยู่บนโฉนดที่ดินของไทย) ขณะที่ประเทศจีนใช้ดาวเทียมส่วนของจีนและใช้สิทธิวงโคจรที่เป็นของจีน (เปรียบเหมือนส่วนของบ้านแฝดที่เป็นของจีนก็อยู่บนโฉนดที่ดินของจีนซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของไทย) ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการปฏิบัติกันอยู่แล้วในอุตสาหกรรมดาวเทียม
บริษัทฯ จึงขอชี้แจงและยืนยันว่า สิทธิในการใช้สิทธิวงโคจรยังเป็นของประเทศไทย ดาวเทียมไทยคม 7 ยังเป็นดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิของไทย ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) (อ้างอิงเอกสารสิทธิวงโคจรของ ITU : THAICOM-A3, THAICOM-A3B, THAICOM-N3) โดย ITU เป็นองค์กรระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ที่กำกับดูแลการใช้วงโคจรของดาวเทียมสื่อสารของโลก และยืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีสิทธิในวงโคจร ณ ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)
Tags: THCOM, ดาวเทียม, ดาวเทียมไทยคม, ไทยคม