นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าลงทุนในโครงการพลังงานเชื้อเพลิงหลักหรือก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ในประเทศ จำนวน 1-2 ดีล โดยคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้อย่างน้อย 1 ดีลภายในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ คาดใช้งบลงทุน 4-5 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างเจรจาลงทุนในโปรเจ็คต์ขนาดใหญ่ หรือมีกำลังการผลิตหลายร้อยเมกะวัตต์ ในโครงการพลังงานทดแทน และก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศ เบื้องต้นคาดว่าจะปิดดีลได้ในช่วงกลางปี 65
สำหรับปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 10,000-15,000 ล้านบาท โดยใช้ไปแล้ว 5,000 ล้านบาทในครึ่งปีแรก และหากสามารถปิดดีลในประเทศปลายปีนี้ก็จะใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาทส่งผลให้ปีนี้ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 บริษัทก็ได้วางงบลงทุนรวมไว้ในระดับเดียวกันกับปี 64 เพื่อรองรับในเรื่องของการลงทุนโครงการใหม่ๆ
อีกทั้งบริษัทยังได้จัดเตรียมเงินทุนสำรองไว้เกินกว่าสองเท่าจากเงินลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น หรือราว 40,000-45,000 ล้านบาทในช่วงปีนี้และปีหน้า โดยจะมาจากการกู้ยืมจากสถานบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการพิจารณาการออกหุ้นกู้ด้วย
บริษัทยังเตรียมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เรียว อินโดนีเซีย ในช่วงไตรมาส 4/64 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Ecowin เวียดนาม กำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 51%) ในเดือนต.ค.นี้ รวมจะมีการ COD โรงไฟฟ้าในครึ่งปีหลังนี้จำนวนทั้งสิ้น 160 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ทั้งปี 64 จะมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว กำลังการผลิตรวม 7,213.37 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการ COD ในปีนี้ บริษัทยังไม่ได้นับรวมกับดีลที่คาดว่าจะปิดได้ภายในปีนี้ รวมถึงยังมีดีลโครงการพลังงานเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน ขนาด 970 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีเงื่อนไขอยู่หลายเงื่อนไข ที่ต้องได้รับความเห็นชอบก่อน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นของ RATCH
“บริษัทฯ ยังคงมุ่งแสวงหาการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยเน้นโครงการที่ดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ทันที ในปีนี้บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 8,874 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องลงทุนเพิ่มอีก 584 เมกะวัตต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนที่ดำเนินงานแล้วในต่างประเทศ หากดำเนินการได้สำเร็จ บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มอีกประมาณ 970 เมกะวัตต์ และรับรู้รายได้ในทันที
อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้วางแผนการจัดหาเงินรองรับการลงทุนของบริษัทฯ ในช่วงปี 64-68 ทั้งการจัดหาเงินกู้และการเพิ่มทุน เพื่อให้เป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์สำเร็จ ขณะที่ฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ก็ยังมั่นคงและสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืนด้วย”
นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในข่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ และมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอย่างมาก โดยยืนยันยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะยังคงจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้านิคมอุตสาหกรรมได้ดีกว่าเป้าหมาย และดีกว่าปีก่อน จึงมั่นใจว่าในปี 64 บริษัทจะทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ได้
สำหรับการดำเนินงานในครึ่งแรกของปี 64 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 4,210.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยบวกมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในออสเตรเลียและส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลงด้วย
บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 19,217.47 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 15,788.60 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82.2% ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน จำนวน 3,011.65 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.67% และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 417.22 ล้านบาท
การดำเนินงานในรอบครึ่งแรกของปี 64 สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาประสิทธิภาพการผลิตของกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งกำลังผลิตเชิงพาณิชย์ที่บริษัทฯ รับรู้จากการลงทุน รวม 7,053 เมกะวัตต์ และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 18,948.66 ล้านบาท (จากรายได้รวม 19,217.47 ล้านบาท) โดยจำนวนนี้เป็นรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก จำนวน 17,628.34 ล้านบาท และรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จำนวน 1,320.32 ล้านบาท
ด้านการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ ได้ใช้เงินลงทุนในโครงการเดิมที่ร่วมทุนแล้ว และโครงการใหม่ รวมเป็นเงิน 5,440 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ ได้แก่ การเข้าซื้อหุ้น 10% ของ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ในเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ลงนามสัญญาร่วมทุน 2 โครงการในสปป. ลาว ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสปป. ลาว ได้แก่ โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (ถือหุ้น 25%) และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ (ถือหุ้น 9.91%) ซึ่งมีกำหนดชำระเงินลงทุนในไตรมาสที่ 3
นอกจากนี้บริษัทรับรู้กำลังการผลิตติดตั้งตามการถือหุ้นรวม 8,290 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 5,879 เมกะวัตต์ (71%) โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 888 เมกะวัตต์ (11%) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 488 เมกะวัตต์ (6%) โรงไฟฟ้าพลังงานลม 720 เมกะวัตต์ (9%) ที่เหลือเป็นกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล และพลังงานนิวเคลียร์ รวม 319 เมกะวัตต์ (3%) สำหรับกำลังการผลิตเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ รวม 7,053 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวม 1,237 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้มี 160 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จและผลิตไฟฟ้าจำหน่ายในไตรมาส 4 ปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)
Tags: RATCH, กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ, ราช กรุ๊ป, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า