นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “มุมมอง ธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย”ว่า เป็นหัวเลี้ยว หัวต่อของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ก็ว่าได้ เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่หากประเทศใดปรับตัวได้ ก็จะก้าวกระโดด แต่หากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอ ก็จะตกขบวน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน
โดยได้ยก 4 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ปากท้อง 2) ป้องกัน 3) รักษา 4) อนาคต
ประเด็นแรก เรื่อง “ปากท้อง” ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนได้รับความลำบากมาก คนลำบากในต่างจังหวัด ยังพอมีญาติ มีอาหารมาแบ่งปัน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยังพอประทังชีพได้ แต่คนมีรายได้น้อยในเมือง และคนที่มีภาระ เมื่อเจอเข้ากับวิกฤตที่ต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ จะทำให้ลำบากมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมาดูแล แต่ในส่วนของภาคเอกชน ทำได้เพียงช่วยแบ่งเบาภาระ
ประเด็นที่สอง การ “ป้องกัน” โดยวัคซีนหากยิ่งฉีดได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น เช่น อังกฤษ พอฉีดได้จำนวนมาก ก็กลับมาเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อเพิ่ม แต่ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บหนัก ก็จะทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งต้องตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100% ไปเลย โดยนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ
ทั้งนี้ นายธนินท์ ได้กล่าวตอบคำถามในประเด็นมีส่วนในการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลหรือไม่ว่า ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะการผลิตวัคซีนทั้งหมดของซิโนแวคต้องส่งให้กับรัฐบาลจีน และต่อให้เอกชนอยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ พนักงานเครือซีพีในประเทศจีน ยังไม่สามารถซื้อซิโนแวคมาฉีดให้พนักงานได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนทั้งหมด
นายธนินท์กล่าวว่า ในประเทศไทย ซีพียังต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมา 1 แสนโดสมาดูแลพนักงานของบริษัทเอง โดยซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพราะซื้อตรงยังทำไม่ได้ เนื่องจากวัคซีนถูกควบคุมทั้งหมด นอกจากนี้ วัคซีนทุกยี่ห้อ หากผู้ผลิตกล้าฉีดให้คนประเทศของเขา ก็มั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยระดับสูง ดังนั้น ต้องนำเข้าวัคซีนหลาย ๆ ยี่ห้อเข้ามาฉีด ของทางอเมริกา ยุโรป ก็มีเทคโนโลยีที่ดี และประเทศเหล่านั้นได้ฉีดให้คนของเขาจำนวนมาก ยิ่งมีทางเลือกมาก ประชาชนก็มั่นใจ และ ฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
ประเด็นที่สาม คือ การ”รักษา” ต้องเร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านเป็น Home Isolation มากขึ้น ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว หากคนไข้ได้ปรึกษาอาการกับหมอ มีหมอออนไลน์ จะมีกำลังใจ นอกจากนี้การเข้าถึงยามีความสำคัญอย่างมาก อย่ารอให้คนไข้มีอาการหนัก และควรกระจายยาอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ
นายธนินท์ กล่าวถึงประเด็นที่ 4 คือ “อนาคต” ว่า ประเทศไทยเสี่ยงถดถอยหากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบ และหากต้องล้มหายตายจากไปหลังพ้นวิกฤต บริษัทที่จะจ่ายภาษีให้ประเทศจะมีจำนวนลดน้อยลง และเครื่องจักรเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก ใช้เวลาฟื้นตัวช้าหากมีการปิดกิจการไปแล้ว
ดังนั้น ต้องดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอดและปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะ ธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน วันนี้ประเทศไทยแข่งเรื่องแรงงานราคาถูก กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว เพราะเรายังต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไทย ต้องขยับไปสู่ธุรกิจไฮเทค แต่ก็ตามมาเรื่องคน คนเราพร้อมหรือไม่ รัฐบาลพูดไป แต่ยังขับเคลื่อนได้ช้า รัฐบาลต้องออกไปเชิญชวนการลงทุนมาเพื่อสร้างงานในประเทศไทย ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปประเทศเพื่อนบ้าน
ทุกบริษัทระดับโลกด้านไฮเทค ล้วนเนื้อหอม ทุกประเทศอยากดึงบริษัทเหล่านี้ไปลงทุนในประเทศกันทั้งนั้น แล้วประเทศไทย จะมีมาตรการเชิงรุกอะไรในการไปดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามา ดึงคนเก่งทั่วโลกมาอยู่เมืองไทย มาใช้จ่ายที่ประเทศไทย มาจ่ายภาษีให้ประเทศไทย เหมือนเช่นอเมริกา ดึงคนยุโรป จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไปอยู่อเมริกา หรือ คนสิงคโปร์มีประชากรครึ่งหนึ่งเป็นคนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน เศรษฐกิจใหม่ก็จะเกิดขึ้น แต่ที่พูดมาทั้งหมดต้องทำควบคู่กันทั้งหมด ยามมืดสุด ต้องคิดว่าเมื่อสว่างแล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร
ดังนั้น ทั้ง 4 ประเด็น ตั้งแต่ปากท้องที่ต้องดูแล ป้องกันโดยการหาวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด หากเอกชนจะช่วยนำเข้า รัฐควรรีบสนับสนุน วัคซีนยี่ห้อไหนดีต้องพยายามนำเข้ามาทั้งหมด การรักษาที่ต้องรวดเร็ว ต้องเข้าถึงยา อย่าปล่อยให้หนัก และสุดท้ายคือ ต้องมองเรื่องอนาคตควบคู่ ทั้ง 4 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน ในยามวิกฤต จะใช้ขั้นตอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องรวดเร็วและมีคุณภาพ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)
Tags: ซีพี, ธนินท์ เจียรวนนท์, เครือเจริญโภคภัณฑ์, เศรษฐกิจไทย