ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนในวันที่ 12 ส.ค.64
เวลา 18.00 น. มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 219,840 โดส รายละเอียดดังนี้
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส โดยยืนยันว่า นโยบายในการบริหารวัคซีนไฟเซอร์มีความโปร่งใส ไม่ต้องกังวลว่า วัคซีนจะสูญหายสามารถตรวจสอบได้ และมีการแบ่งกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในล็อตนี้อย่างชัดเจน
“ขอย้ำว่า ไม่มีการฉีดให้กับวีไอพี หากประชาชนเห็นและมีข้อสงสัยสามารถแจ้งมาได้เพื่อตรวจสอบ ยืนยันเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย”
นพ.เฉวตสรร กล่าว
ทั้งนี้ ในวัคซีน 1.5 ล้านโดส จะแบ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใน 77 จังหวัด โดยมีการจัดส่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก จำนวน 442,800 โดส จัดส่งแล้วเมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.ที่ผ่านมา และรอบที่ 2 จำนวน 257,200 โดส และเริ่มทยอยส่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.นี้ และคาดว่า จะถึงทุกพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค.นี้ ซึ่งการทยอยส่งจะมีผลดีต่อการจัดเก็บให้เป็นไปตามอุณหภูมิของวัคซีน
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มีการจัดส่งไปแล้ว 320,880 โดส ใน 13 จังหวัด ส่วนที่เหลือจะจัดส่งในช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งการแยกส่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ เพราะวัคซีนที่ส่งไปในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อฉีดเข็มที่หนึ่งไปแล้ว อีก 3 สัปดาห์ถัดไปจะต้องนัดฉีดเข็มที่สอง หากส่งไปล็อตเดียวกัน วัคซีนไปจัดเก็บในตู้เย็นปกติจะสามารถเก็บอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน อาจทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพได้ ซึ่งการทยอยส่งจะมีผลดีต่อคุณภาพของวัคซีนและการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน
ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกับคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย และรวมกับการฉีดวัคซีนอื่นๆก่อนที่วัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามานั้น มีชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 280,075 ราย หรือคิดเป็น 5.72% ของชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย และรับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 74,587 ราย ขณะที่ผู้สูงอายุ จำนวน 20,903 ราย
ส่วนคนเมียนมาในไทยได้รับวัคซีนมากสุด 1.4 แสนราย รองลงมาคือ จีน จำนวน 37,000 ราย ซึ่งมีส่วนของวัคซีนที่ทางการจีนได้บริจาคมาด้วย ถัดมาคือ กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น
ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ขณะนี้ฉีดไปแล้วจำนวน 2,878 ราย ซึ่งมีกรอบเวลาในการเดินทาง ซึ่งนักเรียนต้องลงทะเบียนเพื่อยื่นความประสงค์ในการรับวัคซีน กรอกข้อมูล และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบภายใน 3-5 วันและแจ้งผลกลับไป และเข้ารับบริการได้
ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผลการฉีดวัคซีนสะสมทั้งสิ้น 22,508,659 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 17,239,539 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 4,855,000 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 414,066 ราย และเมื่อจำแนกตามยี่ห้อวัคซีน พบว่า วัคซีนซิโนแวค จำนวน 10,794,083 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา จำนวน 9,685,262 โดส วัคซีนซิโนฟาร์ม 1,742,610 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 286,704 โดส
ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์ ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.2564 จากยอดฉีดสะสม 20,669,780 โดส ซึ่งในการฉีดวัคซีนซิโนแวคฉีดไปจำนวน 10 ล้านโดส พบรายงานกรณีร้ายแรง 2,258 เหตุการณ์ คิดเป็น 22 เหตุการณ์ต่อ 100,000 โดส อาการแพ้รุนแรง 22 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.2 ต่อ 100,000 โดส
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดไปจำนวน 9.06 ล้านโดส พบรายงานรุนแรง 2,606 เหตุการณ์ แพ้รุนแรง 2 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.02 ต่อ 100,000 โดส ซึ่งมีการกระตุ้นให้เกร็ดเลือดต่ำและเกิดลิ่มเลือด 2 ราย ซึ่งได้รับการดูแลปลอดภัยและหายเป็นปกติ
สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม พบรายงาน กรณีร้ายแรง 90 เหตุการณ์ คิดเป็น 6.10 ต่อ 100,000 โดส ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งเริ่มฉีดยังไม่มีการรายงานเข้ามา
ทั้งนี้ การเสียชีวิตภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน มีรายงาน 334 ราย และมีการสรุปการเสียชีวิตไปแล้ว 278 คน ทุกกรณีไม่มีสาเหตุเกี่ยวกับวัคซีนแต่อย่างใด ขณะที่จำนวนที่เหลืออยู่ระหว่างการสืบค้นข้อมูลและพิจารณาผลชันสูตรโดยละเอียดต่อไป
ส่วนกรณีที่เป็นข่าวบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบางคล้า จ.พิจิตร เพศชาย อายุ 44 ปีหลังการฉีดเมื่อวันที่ 10 พบว่า เสียชีวิต ในวันที่ 11 ส.ค. นั้นรายละเอียดการชันสูตรจะรวบรวมข้อมูลเข้าสู่คณะกรรมการคณะผู้เชี่ยวชาญ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 และจะนำมารายงานต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค., โควิด-19