นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงาน “EXIM One Solution Forum” ว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั่วโลกใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐบาลทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้ ทั้งภาคการผลิต การบริการ และการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ 2. การชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากการระบาดของโรคและมาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางรายการที่ใช้ในการผลิตสินค้า และ 3. กำลังซื้อลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานหรือลดชั่วโมงการทำงาน ภาคธุรกิจทั่วโลกจึงต้องปรับตัว และได้รับการสนับสนุนด้านการอัดฉีดสภาพคล่อง และการพักชำระหนี้
EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงพร้อมสนับสนุนใน 4 ด้าน ได้แก่ เงินทุน ช่องทางการค้าออนไลน์ ความรู้ และเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เพื่อช่วยให้ภาคส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ EXIM BANK เป็นองค์กรรับประกันแห่งเดียวของไทย ที่มีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นและสะดวก อนุมัติเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ ประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกรู้จักผู้ซื้อดีขึ้น กล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรน และขยายตลาดส่งออกได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนและติดตามหนี้ เมื่อเกิดความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า
นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2537 บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ก่อให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกของไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.55 ล้านล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจำนวนทั้งสิ้น 12 ราย เป็นมูลค่ากว่า 22.6 ล้านบาท โดยประมาณ 66% มีสาเหตุจากผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า รองลงมาอีก 26% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 8% ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า
EXIM BANK มีบริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ ตลอดจนบริการประกันการส่งออก คุ้มครองความเสี่ยงของผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการค้า ได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า และความเสี่ยงของประเทศผู้ซื้อหรือความเสี่ยงทางการเมือง ได้แก่ การควบคุมการโอนเงินจากประเทศผู้ซื้อมายังประเทศไทย การห้ามนำเข้าสินค้าหรือยกเลิกสิทธิการนำเข้า และการเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร บริการประกันการส่งออกเพื่อ SMEs ในปี 2564 ได้แก่ EXIM for Small Biz สำหรับ SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาท ค่าเบี้ยเริ่มต้นเพียง 600 บาท คุ้มครองสูงถึง 1 แสนบาท ให้ความคุ้มครอง 80% ของมูลค่าความเสียหาย และ EXIM Smart SMEs สำหรับ SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้ความคุ้มครองสูงถึง 90% ของมูลค่าความเสียหาย ผู้ส่งออกที่มีประวัติดี ไม่มีเคลม จะได้รับเงินคืนสูงสุด 10%
นายรักษ์ กล่าวว่า ในวิกฤตโควิด-19 ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้าหรือชำระไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีความยากลำบากและต้นทุนสูงมากในการติดตามหนี้ กลายเป็นหนี้สูญเพราะผู้ซื้อในต่างประเทศขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับการค้าขายล็อตใหญ่กับผู้ซื้อที่ดูน่าเชื่อถือหรือมีความเสี่ยงต่ำ
“EXIM BANK ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน จึงเร่งขยายบริการประกันการส่งออกให้ผู้ส่งออกไทยใช้เป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจค้าขายกับใคร ตลาดใด จำนวนเท่าไร หรือแม้แต่ให้เครดิตเทอมนานขึ้นแก่ผู้ซื้อที่ EXIM BANK ให้การรับประกัน ทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ” นายรักษ์ กล่าว
ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อ “วัคซีนประกันการส่งออก (Export Credit Insurance : ECI) ส่งออกมั่นใจ ยังไงก็ไม่โดนเท” ว่า ขณะที่ภาคการส่งออกไทยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2564 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันส่งเสริม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีฐานทุนน้อย และเปราะบางต่อความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า
ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้หลายกิจการทั่วโลก ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งบางแห่งอาจไม่แสดงอาการ เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากสถิติการล้มละลายในปี 2563 ของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ลดลงสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะเดียวกันหลายกิจการยังมีสภาพคล่องดี แต่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นหากผู้ส่งออกไทยค้าขายกับคู่ค้าเหล่านี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า การทำ “ประกันการส่งออก” จึงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้ส่งออกจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจนขาดสภาพคล่องธุรกิจ หรืออาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ ทั้งยังช่วยให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 64)
Tags: EXIM BANK, กรมการค้าต่างประเทศ, กีรติ รัชโน, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, รักษ์ วรกิจโภคาทร