นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่าการจัดสรรเงินเพื่อกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศช่วงนี้ ยังเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทยังคงแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังคงมุมมองเชิงบวกในตลาดหุ้นแถบเอเชีย โดยกระจายการลงทุนให้หุ้นญี่ปุ่นไม่เกิน 10%-15% ของพอร์ต เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในช่วงหลังของปีนี้
ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าประเทศ DM อื่นๆ แต่อัตราการฉีดได้เร่งตัวขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นที่ราว 1 ใน 3 ของประชากร แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ระยะสั้นกลับมาดูแย่ลง แต่แนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่กลับยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อน ส่วนหนึ่งเพราะบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดและกลุ่มเปราะบางอายุ 65 ขึ้นไป ร้อยละ 80 ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดสแล้ว โดยญี่ปุ่นเลือกใช้วัคซีน mRNA เป็นหลักซึ่ง 2 โดสใช้เวลาฉีดห่างกันเพียง 3-4 สัปดาห์ ทันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตาที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจมีส่วนช่วยให้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น นักวิเคราะห์ HSBC คาดการณ์ไว้เมื่อต้นไตรมาส 3 ถึงช่วงเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของแต่ละประเทศในเอเชีย (ฉีดวัคซีนครบโดส 70% ของประชากรขึ้นไป) โดยประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ซึ่งตามหลังเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น และจะนำมาสู่การเริ่มกลับมา reopening ได้ต่อเนื่องในที่สุด
ในมุมมองของเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวสะท้อนผ่านดัชนี PMI ที่อยู่ในโซนขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี จากข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมักจะทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อดัชนีดังกล่าวขยายตัว เนื่องจากมีหุ้น Cyclical สูง แต่ราคาปัจจุบันยังคง Laggard ประเทศ DM ด้วยกันเอง
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) อาจจะไม่สร้างผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่นมากนักเนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เป็น Net cash เพราะฉะนั้นผลกระทบเรื่อง Bond yield ค่อนข้างจำกัดกว่าบริษัทที่เป็น New debt ขณะที่ในมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยมีน้อย จากอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นต่ำมาเป็นระยะเวลานานและห่างไกลจากเป้าหมายที่ระดับ 2%
นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศ DM อย่างเช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่นลงทุนด้านดิจิตอลน้อยมาก แต่จากผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ได้เริ่มพิจารณาลงทุนดังกล่าวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำกำไร ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเพื่อพลิกฟื้นให้ญี่ปุ่นกลับมาเติบโตอีกครั้ง ควบคู่กับการโปรโมทด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์หลักของโลกที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
สำหรับการเฟ้นหาบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตที่ซ่อนอยู่ต้องพึ่งพา Active Managers ในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนแบบกระจุกตัว (เพียง 30-40 หลักทรัพย์) ซึ่งจากสถิติชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์นี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนบนดัชนีในระยะยาว โดยกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท เจแปน อิควิตี้ สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-UJE-RA) ลงทุนแบบ Fund of funds ซึ่งผู้จัดการกองทุนสามารถปรับสัดส่วนในกองทุนต่างประเทศต่างๆที่มีผลการดำเนินงานชนะดัชนีชี้วัดอย่างสม่ำเสมอได้อย่างยืดหยุ่น! ถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนโดดเด่นของบลจ.วรรณ ที่ยังไม่มีใครในตลาดทำมาก่อน นายพจน์กล่าว
ปัจจุบัน ONE-UJE-RA มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Fund of Funds โดยลงทุนผ่านกองทุน 1.Goldman Sachs Japan Equity Partners Portfolio เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลางในบริษัทญี่ปุ่น สัดส่วนประมาณ 40% 2.กองทุน Nomura Japan High Conviction สัดส่วนประมาณ 25% เน้นลงทุนในบริษัทที่มั่นคง และมี ROE สูง 3.กองทุน Comgest Growth Japan เน้นลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นที่มีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สัดส่วนประมาณ 20% และ 4.กองทุน Baillie Gifford Worldwide Japanese สัดส่วนประมาณ 10% เน้นลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้นำการเติบโตในประเทศญี่ปุ่นระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ผ่านการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-up และส่วนที่เหลือลงทุนบนดัชนี TOPIX ETF
กองทุน ONE-UJE-RA จะใช้ดัชนี TOPIX Net total Return เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนจากแบบจำลองผลการดำเนินงานย้อนหลัง (Back test) ในระยะเวลา 1 ปี 3 และ 5 ปี ONE-UJE-RA ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 46.66% 12.16% และ 16.67% ขณะที่ผลการดำเนินงานดัชนี TOPIX NTR index เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 25.94% 3.84% และ 9.60% ตามลำดับ
นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองไปข้างหน้า บลจ.วรรณ เชื่อว่าดัชนีญี่ปุ่นสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ในปีนี้เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วในระดับสูงและกลับมา reopening ได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอนาคตอาจจะต้องมีการฉีดบูสเตอร์โดสเนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่าโควิด-19 มีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี แต่หลายประเทศเลือกที่จะปรับตัวอยู่กับมันแทนการ Lockdown ไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 64)
Tags: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น, พจน์ หะริณสุต, พอร์ตการลงทุน, วรรณ