เครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ 111 คน ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการชุมนุมของประชาชน ภายหลังจากที่มีการชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามต่อประชาชนอย่างอุกอาจ และการดำเนินการที่เกิดขึ้นมิได้เป็นไปตามหลักการอันเป็นที่ยอมรับกันในอารยะประเทศ ซึ่งล้วนแต่กำหนดให้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะสามารถกระทำได้ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง การเลือกใช้มาตรการต่าง ๆ ก็ต้องเป็นไปโดยอยู่ภายใต้หลักแห่งความได้สัดส่วนและภายใต้หลักความจำเป็น
ทั้งนี้ ในการชุมนุมสาธารณะเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม และวันที่ 10 สิงหาคม จะพบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มุ่งใช้กำลังและความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยมิได้เป็นไปตามหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เช่น การยิงกระสุนยางจากพื้นที่สูง การยิงโดยมุ่งเข้าใส่ตัวบุคคล การยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในที่ชุมนุมและพื้นที่ของชุมชนโดยไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้คน การยั่วยุผู้ชุมนุมให้เกิดความโกรธแค้น เป็นต้น
เป็นที่ยอมรับกันว่าการชุมนุมสาธารณะอาจเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดการละเมิดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจราจร กฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องเสียง การเผาสิ่งของในที่สาธารณะ กระทั่งการฝ่าฝืนกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ฯลฯ แม้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมจะมีการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว แต่การกระทำผิดต่อกฎหมายเหล่านี้ก็ไม่เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเพื่อเป็นการตอบโต้ได้ตามอำเภอใจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจคือบุคคลที่ทำหน้าที่ในฐานะของกลไกของรัฐประเภทหนึ่ง หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเกิดการกระทำอันเป็นความผิดต่อกฎหมายขึ้นก็คือการดำเนินการจัดการกับปัญหาภายใต้กรอบที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมิใช่คู่ความขัดแย้งโดยตรงกับประชาชนในการปฏิบัติตามหน้าที่ หากเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐจึงย่อมกระทำการอย่างระมัดระวัง หากจะมีการใช้กำลังหรืออาวุธก็ต้องเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายหรือเป็นไปเพื่อป้องกันตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนในประเด็นปัญหาทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน ข้อเรียกร้องเป็นความต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเมืองในเชิงโครงสร้าง การชุมนุมสาธารณะคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับและบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควรต้องกระทำด้วยการตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนควบคู่กันไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
แต่ในการรับมือกับการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันที่ 7 และวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีปฏิบัติการซึ่งละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสำคัญ จึงมีความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
- ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน โดยต้องดำเนินการในทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำการสอบสวนค้นหาข้อเท็จจริง เฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนต่อการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนเพื่อนำมาสู่การลงโทษในกรณีที่ได้มีการใช้อำนาจและปฏิบัติการที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งในส่วนของผู้บังคับบัญชาและในส่วนของระดับปฏิบัติงาน
หากสังคมปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงสามารถใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนตามอำเภอใจโดยไม่ต้องมีความรับผิดใด ๆ เกิดขึ้น ก็จะทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ต่อไปอีกในอนาคต การใช้ความรุนแรงในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะจะเป็นการยอมรับให้รัฐไทยกลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือชีวิตและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นสิ่งที่ขัดกับอุดมคติของการปกครองด้วยกฎหมายในสังคมไทยและในโลกปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ส.ค. 64)
Tags: ชุมนุมทางการเมือง, นักกฎหมาย, นิติศาสตร์, ม็อบ, สิทธิเสรีภาพ