นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลการปฏิบัติงานของทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (CCRT) สธ. และทีมภูมิภาคในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 4-10 ส.ค. 64 พบว่าจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุก CCRT มีการพบผู้ติดเชื้อถึง 11% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่สีแดงเข้มกทม.และปริมณฑล ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ดังนั้น สธ.จะดำเนินการปฏิบัติการเชิงรุก CCRT ต่อไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล ลดอาการป่วยหนัก และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการระดมกำลังจากภูมิภาคอื่น ๆ มาช่วยดำเนินงานนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีต่อไปหรือไม่
ด้านกระบวนการทำงานของทีม CCRT ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในชุมชนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK), การค้นหาผู้ป่วยที่ตกค้างตามชุมชนต่าง ๆ, การให้บริการรักษาพยาบาล การจ่ายยา และการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการ 7 โรคเรื้อรัง และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ (กลุ่ม 608) โดยมีพื้นที่ดำเนินการสะสมจำนวน 196 จุดตรวจ ครอบคลุม 369 ชุมชน ซึ่งมีผลการดำเนินการตรวจสะสม (วันที่ 4-10 ส.ค. 64) แบ่งเป็นการตรวจด้วยชุด ATK จำนวน 141,516 ราย ในจำนวนนี้มีผลตรวจเป็นบวก 15,588 ราย คิดเป็น 11% และมีการส่งตรวจ RT-PCR จำนวน 15,074 ราย หรือคิดเป็น 96.7%
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อสะสม (วันที่ 4-10 ส.ค. 64) แบ่งออกเป็น ผู้ป่วยสีเขียว 10,838 ราย คิดเป็น 69.5%, ผู้ป่วยสีเหลือง 4,427 ราย คิดเป็น 28.4% และผู้ป่วยสีแดง 323 ราย คิดเป็น 2.1% ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยได้รับการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,509 ราย คิดเป็น 22.5% และได้รับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 8,939 ราย คิดเป็น 57.3% ในขณะเดียวกันทีม CCRT ได้ทำการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง 806 สะสมจำนวน 7,412 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, กระทรวงสาธารณสุข, ยงยศ ธรรมวุฒิ, โควิด-19