นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 เปิดว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเสร็จสิ้นในหลักการแล้ว โดยสาระสำคัญคือบทเฉพาะกาล โดยให้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนญว่าด้วยการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
แต่ในกรณีที่มีการยุบสภา หรือมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน โดยที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศระเบียบใช้ไปพลางก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ทั้งนี้การแก้ไขในมาตรา 83 มีการปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น ส่วนมาตรา 91 ยืนตามหลักการเดิม ให้การคำนวณคะแนนอยู่ในกฎหมายลูกเป็นหลัก
นอกจากนั้นมีการแก้ไขมาตรา 86 ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการให้มีส่วนสัด ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และมีการตัดบางมาตราที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการคิดคำนวณแบบสัดส่วนผสม เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบจึงไม่มีสัดส่วนผสมแล้ว ทาง กมธ.ฯ จึงให้ตัดออก ซึ่งการพิจารณาเกือบเสร็จแล้ว แต่มีปัญหาระหว่าง กมธ.จากพรรคก้าวไกล และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. ที่มีความขัดแย้งกันเล็กน้อยเกี่ยวกับการประชุม ทำให้ต้องปิดการประชุมไปก่อน แต่นัดประชุมใหม่ในวันที่ 13 ส.ค.เพื่อยืนยันหลักการ และตรวจรายงานการประชุม ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อยก็จะเสร้จสิ้น จึงคาดว่าจะสามารถยื่นรายงานต่อประธานสภาฯ ได้ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ นอกจากนี้สมาชิกส่วนใหญ่สงวนคำแปรญัตติไว้ไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะกมธ. กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของ กมธ. ที่อาจจะดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย จึงสงวนความเห็นเสนอต่อที่ประชุมฯ เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ และคณะ ได้เสนอให้แก้ไขมาตรา 83 และ 91 ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ที่ประชุมรัฐสภารับร่าง หมายความว่าไม่รับร่างอื่น นั่นคือเจตนารมณ์ของรัฐสภาที่ไม่ประสงค์แก้ไขมาตราอื่น
แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของ กมธ. มีเหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนอย่างมากมาย คือ การเสนอความเห็นและแปรญัตติ ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อที่ 124 เพราะในการพิจารณามี กมธ. ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมความ และมาตราเพิ่มเติมขึ้นมา มีการหยิบเอาถ้อยคำ ข้อความ และมาตรา ที่อยู่ในร่างของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐสภาไม่ได้รับหลักการ และร่างได้ตกไปแล้ว มาใส่ในร่างนี้เพื่อพิจารณาด้วย นอกจากนี้นายจุรินทร์ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างให้แก้เฉพาะมาตรา 83 และ 91 ยังได้แปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยหยิบเอาความที่ไม่ปรากฎเข้ามาแปรญัตติเพิ่มเติม ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในสถาบันนิติบัญญัติ
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสมาชิกผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่เรียกว่านิติวิธี และยังทำผิดหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเป็นการกระทำโดยมิชอบ ผมไม่สนใจว่าระบบเลือกตั้งจะเป็นบัตรกี่ใบ แต่วันนี้สถาบันแห่งนี้จะต้องดำรงไว้ตลอดไป เราไม่ควรเอาความประสงค์ของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นตัวตั้ง แล้วเอาสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง สิ่งนี้พรรคภูมิใจไทยปฏิเสธตลอดว่าเราไม่ควรแก้เรื่องระบบเลือกตั้งกันในห้วงเวลานี้ เพราะเป็นประโยชน์ของพรรคการเมือง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน และกระบวนการวิธีก็ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย สุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกทั้ง ส.ส. และส.ว.”
นายศุภชัย กล่าว
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 256 (8) ว่าถ้ามีการแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ศาลหรือองค์กรอิสระ จะต้องดำเนินการให้ลงประชามติก่อน เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า การพิจารณาของ กมธ.มีประเด็นที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเลือกตั้ง ส.ส.เหมือนเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตรงนี้เป็นการกำหนดเกินอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่มีอยู่ แต่ กมธ.ฯ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ ในที่สุดจะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบเรื่องอำนาจ กกต.
อีกประเด็นคือในการพิจารณของ กมธ. กำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.โดยไม่ได้กำหนดให้ใครเป็นหน่วนงานที่รับชอบ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 และ 132 ต้องกำหนดชัดเจนว่าเป็นใคร เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ องค์กรอิสระ แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น ตนเองก็จะแสดงจุดยืนว่า การดำเนินการใดของ กมธ.ฯ ชุดนี้ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
“ถ้าพิจารณาแล้วเสร็จและส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ผมคิดว่าจะกลายเป็นมลทินต่อรัฐสภาแห่งนี้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประโยชน์ ผมไม่อยากให้มีบรรยากาศพวกมากลากไป วันนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าอยากแก้มาตรา 83 และ 91 แปลว่าท่านไม่ประสงค์แก้มาตราอื่น ผมไม่อยากให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป และเรื่องนี้กว่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่สุดแล้วอาจต้องให้ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัย ซึ่งผมไม่อยากร่วมกระบวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้”
นายศุภชัย กล่าว
ส่วนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะกฎหมายเมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว สมาชิกมีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำทูลเกล้าฯ แต่ระหว่างนี้หากมีประเด็นเรื่องข้อบังคับก็สามารถยื่นให้สภาวินิจฉัยก่อนตามมาตรา 151 เพียงแต่วันนี้ตนเองอยากแถลงให้ทราบถึงสถานะที่กำลังเกิดขึ้น
หากเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ตนเองในฐานะ กมธ.ก็คงจะอภิปราย แต่เชื่อว่าทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จะเคารพกฎหมาย และหลักการของรัฐสภา ว่าถ้าได้ฟังเรื่องนี้แล้วจะลงมติอย่างไร เมื่อเลือกร่างของพรรคประชาธิปัตย์มาแต่วันนี้กำลังจะไปพิจารณาร่างของพรรคประชาธิปัตย์อีกแบบหนึ่งที่กำลังเอาร่างที่ไม่รับมาสอดเสียบเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง และคิดว่า ส.ว.ก็ได้ศึกษาเรื่องนี้ และพิจารณาว่าเหตุใดจึงได้แปลงร่างมา ยกเว้นคิดว่าไม่ผิดข้อบังคับก็ว่ากันไป แต่ส่วนตัวคิดว่าผิดข้อบังคับแน่นอน
นายศุภชัย กล่าว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทยจะโหวตเรื่องนี้อย่างไรตนเองยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้คุยกัน แต่ที่ผ่านมาในวาระแรก พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงในร่างนี้ เพราะสถานการณ์ไม่เหมาะสมที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง วันนี้จุดยืนของเรายังเหมือนเดิมคือไม่เห็นด้วยในแง่ของกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 64)
Tags: นิกร จำนง, พรรคชาติไทยพัฒนา, รัฐธรรมนูญ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ