In Focus: ปิดฉากมหกรรม “โตเกียวโอลิมปิก 2020” จบ…แต่เจ็บ

ดอกไม้ไฟลุกโชนรอบหลังคาสนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดียม โดยมีสัญลักษณ์ 5 ห่วงโอลิมปิกอยู่เบื้องหน้า ในระหว่างพิธีปิดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภาพ: รอยเตอร์/AFLO

ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับโตเกียวโอลิมปิก 2020 ซึ่งต้องเลื่อนมาจัดการแข่งขันกันในปี 2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้สร้างความประทับใจผ่านพิธีปิดอันเรียบง่ายด้วยการส่งดวงไฟสีทองขึ้นสู่ท้องฟ้า และรวมตัวกันเป็นสัญลักษณ์โอลิมปิก 5 ห่วงอันแสดงถึงจิตวิญญาณของทุกคนที่หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ภาพที่เราเห็นจะเป็นมหกรรมการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ปิดฉากลงด้วยความงดงามและมีความหมายลึกซึ้ง ทว่า… เบื้องหลังมหกรรมกีฬาในครั้งนี้ต้องถือว่า ญี่ปุ่นนั้น “เจ็บหนัก” อยู่เอาการ

โควิดดับฝันโกยเงินนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

เมื่อวันที่ญี่ปุ่นถูกวางตัวให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020 ขณะนั้นโลกยังไม่รู้จักกับโควิด-19 ญี่ปุ่นจึงวาดฝันไว้ว่า การจัดมหกรรมโตเกียวโอลิมปิกจะเป็นการแสดงถึงศักยภาพของประเทศอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมภาพลักษณ์จากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม มาสู่มหานครแห่งเทคโนโลยีในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1964

ญี่ปุ่นหวังว่า โตเกียวโอลิมปิก 2020 จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้ขยายตัวขึ้น 0.2-0.3%

แต่แล้วในช่วงปลายปี 2019 โควิดได้ย่างกรายเข้ามาปั่นป่วนโลกใบนี้ ญี่ปุ่นจึงต้องจำใจเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไป 1 ปี ซึ่งความเจ็บปวดประการแรกคือ หากญี่ปุ่นตัดสินใจยกเลิกการแข่งขัน ก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งในแง่ของสัญญาที่มีต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นต่างๆ ทั้งการปรับปรุงสนามแข่งขัน การสร้างหมู่บ้านนักกีฬา และการทำการตลาด รวมเป็นเงินมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บีบให้ญี่ปุ่นยังต้องเดินหน้าจัดโตเกียวโอลิมปิกต่อไป

ซ้ำร้ายในปี 2021 เมื่อโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาถือเป็นความเจ็บปวดประการที่สอง เพราะนักกีฬาจากหลายประเทศได้ประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ทั่วโลกเริ่มระงับการเดินทางข้ามประเทศ และในที่สุด วันที่ 8 ก.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นก็ตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวเป็นครั้งที่ 4 และไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าร่วมชมการแข่งขันในสนาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียรายได้เฉพาะจากการขายตั๋วเข้าชมกีฬาไปเป็นมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านเยน (820 ล้านดอลลาร์)

ด้านผู้ประกอบการโรงแรมที่พักซึ่งเตรียมตัวเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติต่างก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน โดยยอดการยกเลิกจองที่พักพุ่งสูงขึ้นเกือบแตะ 700,000 ห้อง ตีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 5 หมื่นล้านเยน (456 ล้านดอลลาร์) ขณะที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โรงแรมที่มีสายป่านยาวอาจจะยังพอสู้ต่อได้ แต่จำนวนโรงแรมขนาดเล็กที่ยื่นล้มละลายมีเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาก่อนหน้าแล้ว

ค่าใช้จ่ายอ่วม

ในขั้นตอนการประมูล ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกอยู่ที่ประมาณ 7.34 แสนล้านเยน แต่ค่าใช้จ่ายกลับพุ่งขึ้นเป็น 1.64 ล้านล้านเยน ณ เดือนธ.ค. 2563 ซึ่งรวมถึงงบประมาณเพิ่มเติมอีก 9.6 หมื่นล้านเยนสำหรับมาตรการป้องกันไวรัส โดยหากเทียบค่าใช้จ่ายแล้ว มหกรรมโตเกียวโอลิมปิกมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าของโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโรซึ่งอยู่ที่ราว 8.2 พันล้านดอลลาร์ และสูงกว่าของลอนดอนเกมส์ในปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์

นาโอฟุมิ มาสุโมโตะ ศาสตราจารย์รับเชิญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เมโทรโพลิแทน และมหาวิทยาลัยมูซาชิโนะกล่าวว่า แม้ชาวญี่ปุ่นจะเป็นคอกีฬาโอลิมปิกมากเพียงใด แต่การแข่งขันในปีนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ขัดใจประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีข้อระบุไว้ในสัญญาว่า เมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะต้องเป็นผู้ชำระเงินให้กับการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ซึ่งก็หมายความว่า ชาวกรุงโตเกียวจะต้องเสียภาษีเพื่อใช้หนี้การแข่งขันในครั้งนี้เป็นเวลาอีกหลายปี

จากยอดหนี้ทั้งหมดนั้น คณะกรรมการจัดการแข่งขัน รัฐบาลกรุงโตเกียว และรัฐบาลญี่ปุ่น จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 7.21 แสนล้านเยน, 7.02 แสนล้านเยน และ 2.21 แสนล้านเยนตามลำดับ

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นได้จากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่

คะแนนนิยมรัฐบาลร่วง เหตุขัดใจประชาชนไม่อยากจัดโอลิมปิก

ในขณะที่นักกีฬาชาวญี่ปุ่นคว้าเหรียญทองจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ ซึ่งสร้างความชื่นมื่นให้กับประเทศในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดได้ไม่มากก็น้อย แต่มีบุคคลอยู่ผู้หนึ่งที่อาจจะยิ้มไม่ออก นั่นคือนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ที่ชะตากรรมทางการเมืองกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

“ในที่สุด การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็ส่งผลกระทบในทางลบต่อนายซูงะ” นายอิวาโอะ โอซากะ รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารทางการเมืองของมหาวิทยาลัยโคมาซาวะกล่าว โดยเสริมว่า ถ้านายซูงะจัดการเลือกตั้งในตอนนี้ พรรคเสรีประชาธิปไตยของเขาจะต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน

ในช่วงเวลาก่อนจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านว่า พวกเขาไม่อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดงานในครั้งนี้ เนื่องจากเกรงว่าญี่ปุ่นจะเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในช่วงเวลาที่เปิดฉากการแข่งขันนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้นายซูงะจะออกมาบอกปัดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็ตาม

จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นพบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิกกว่า 430 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ประชาชนก็เริ่มต่อต้านคำสั่งควบคุมโรคของรัฐบาลมากขึ้น ด้วยการเดินทางออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า รัฐบาลล้มเหลวในการถ่ายทอดความรู้สึกให้กับประชาชนว่า สถานการณ์ใกล้ถึงจุดวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อ และส่งผลกระทบต่อแผนการของนายซูงะที่ต้องการเรียกคะแนนนิยมก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของนายซูงะร่วงลงต่ำกว่าระดับ 30% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ประชาชน 60% ระบุว่า พวกเขาไม่ต้องการให้นายซูงะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นทะลุหลัก 1 ล้านคนแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากนายซูงะต้องการเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชน ก็จะต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันระบบสาธารณสุขล่มสลาย และรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 ไว้ให้ได้

นายโอซากะกล่าวว่า ขณะนี้นายซูงะพยายามยื้อเวลาการเลือกตั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีอาการรุนแรงลดลง หากโครงการเร่งฉีดวัคซีนได้ผล แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของญี่ปุ่นล่าช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ อย่างมาก

อนาคตพาราลิมปิกยังไม่แน่นอน

แม้การแข่งขันโอลิมปิกจะผ่านพ้นไปโดยไม่มีปัญหาใหญ่ที่น่ากังวลใจมากนัก แต่การแข่งขันพาราลิมปิกที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ก็ยังคงต้องจับตาสถานการณ์กันต่อไปแบบรายวัน เราคงต้องร่วมลุ้นกันว่า ญี่ปุ่นจะสามารถจัดพาราลิมปิกโดยมีผู้ชมได้หรือไม่ ซึ่งจะมีการตัดสินใจในการประชุม 5 ฝ่ายทั้งจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลมหานคร ผู้จัดงานในโตเกียว คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล ทั้งนี้ นายโทชิโระ มูโตะ ซีอีโอการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาเชื่อว่าการขายตั๋วชมพาราลิมปิกจะมีมูลค่าเพียงหลักพันล้านเยนเท่านั้น ซึ่งแม้จะชัดเจนว่าเม็ดเงินดังกล่าวไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดงาน แต่ก็ยังนับว่าดีกว่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า หากรัฐบาลสามารถจัดพาราลิมปิกได้อย่างราบรื่นโดยไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ก็อาจเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาได้ไม่มากก็น้อย

In Focus ขอร่วมส่งใจให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาผู้มีสปิริตอันแรงกล้าทุกคนในมหกรรมกีฬาระดับโลกที่จะถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top