นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การผดุงความเป็นธรรมในสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมภายใต้วิกฤตโควิด-19” ว่า ภัยจากโควิด-19 มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในอดีต อยากเรียกว่าเป็นวิกฤติส้มตำ หากแก้ไขไม่ได้ก็จะกลายเป็นส้มตำปลาร้าที่มีกลิ่นรุนแรง วิกฤตคิรั้งนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกสาขาอาชีพ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ และเป็นหลุมดำที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมต้องพิจารณาไม่ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นการซ้ำเติมประชาชน เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้รองรับผลกระทบจากวิกฤติโควิด เช่น กรณีชาวนาผิดสัญญาจำนองจนถูกยึดที่ดิน โดยที่ดินดังกล่าวนำไปขายทอดตลาดแล้วเจ้าหนี้ก็ได้เงินคืนไม่มาก แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน ครอบครัวเดือดร้อน ซึ่งในบางประเทศมีกฎหมายที่คุ้มครองต้องแบ่งที่ดินไว้ให้ทำกินเพียงพอแก่การยังชีพบางส่วน หรือกรณีผู้เช่าที่ดินริมแม่น้ำเพื่อเปิดร้านอาหาร โดยหวังขายอาหารในบรรยากาศริมแม่น้ำ ไม่ใช่การขายอาหารแบบดิลิเวอรี่ เมื่อมีการล็อกดาวน์ต้องปิดกิจการไม่มีรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าที่ดิน พนักงานตกงานต้องเดินทางกลับภูมิเนา ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากสัญญา
“ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษหรือสหรัฐให้อำนาจศาลเข้าไปแก้ไขสัญญาให้เป็นธรรม เพราะใช้ระบบ common law ไม่ใช่ civil law เหมือนบ้านเราที่เอาแพ้ชนะกันตามข้อกฎหมาย การยึดที่ดินทำกินหรือตัดน้ำตัดไฟในต่างประเทศทำไม่ได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายภัทรศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบันถึงแม้จะมีกฎหมายเรื่องการไกล่เกลี่ยคดีก่อนฟ้องแต่ยังเป็นไปโดยสมัครใจของคู่ความ ซึ่งศาลได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้มากขึ้น เพราะไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่คู่ความต้องดำเนินการก่อนห้องเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นในบางกรณีการเร่งรัดคดีให้เสร็จอย่างรวดเร็วอาจเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้
นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องควรตั้งศูนย์รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากประชาชน ขณะนี้ฝ่ายนิติบัญญัติควรเร่งพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การให้อำนาจศาลเข้าไปแก้ไขสัญญา หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้เป็นเหตุที่เกิดจากความทุจริต เพราะไม่ใช่ความผิดของทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)
Tags: กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, ภัทรศักดิ์ วรรณแสง