นายอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปรับลดลง และมีการจำแนกประเภทของการตรวจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการตรวจด้วยเทคนิคอื่น ๆ เช่น Antigen test ยังมิได้กำหนดอัตราไว้ชัดเจน กรมบัญชีกลาง จึงได้หารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19
1.1 การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real time RT- PCR
- การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,700 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1.2 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test
- ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 450 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
1.3 การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจาก 1.1 และ 1.2 ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 550 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. การเบิกค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล กรณีผู้มีสิทธิฯ ติดเชื้อแต่อาการเล็กน้อย ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน
3. การเบิกค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา กรณีผู้สิทธิฯ ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
3.1 มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท ต่อวัน
3.2 มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาท ต่อวัน
3.3 มีอาการรุนแรง (สีแดง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,500 บาท ต่อวัน
4. กรณีผู้มีสิทธิฯ ต้องเข้ารับการผ่าตัดในสถานพยาบาลของทางราชการ และมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ค่าตรวจคัดกรองกรณีดังกล่าว สถานพยาบาลของทางราชการสามารถขอเบิกเงินจาก สปสช. ได้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสถานพยาบาลฯ ไม่ต้องแยกทำธุรกรรมในการส่งเบิกค่าตรวจคัดกรองไปยัง สปสช. โดยอนุญาตให้สถานพยาบาลฯ สามารถส่งค่าตรวจคัดกรองมาพร้อมกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลรายการอื่น ๆ สำหรับวิธีการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนด โดยที่กรมบัญชีกลางจะจัดส่งข้อมูลค่าตรวจคัดกรองให้ สปสช. ใช้ประมวลผลการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการโดยตรงต่อไป
“แนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (เพิ่มเติม) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมบัญชีกลาง, ค่ารักษาพยาบาล, ประภาศ คงเอียด, สปสช., โควิด-19