คาดกรอบวันนี้ 33.38-33.51
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.45/46 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.44 บาท/ดอลลาร์
ทิศทางวันนี้เงินบาทยังคงอ่อนค่า และไม่มีปัจจัยใหม่ เนื่องจากตลาดรอดูตัวเลขจากฝั่งเยอรมนี และยูโรโซน คือดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจขั้นต้นเดือนส.ค.จากสถาบัน ZEW ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ นักลงทุน รอติดตามตัวเลขผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 2/64 (Nonfarm Productivity)
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.38 – 33.51 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (9 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.28889% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.26744%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.34/35 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 110.13 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1737/38 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1759 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.448 บาท/ดอลลาร์
- “กลุ่มคาร์ม็อบ” นัดระดมพล 10 สิงหาฯ สี่แยกราชประสงค์ด้าน ตร.เตือนม็อบ จัดชุมนุมผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “กองทัพ” ประณาม “ม็อบ 7 สิงหา” ก้าวล่วง-ลบหลู่ พ่นสีใส่รายนาม “วีรชน” เสียสละปกป้องแผ่นดิน
- “ศปก.ศบค.” ห่วง พื้นที่ชุมนุม เป็นจุดกระจายเชื้อ รอประเมิน 18 สิงหาคม พิจารณามาตรการ ขณะที่ยอดติดเชื้อรายวัน 19,603 ราย เสียชีวิต 149 ศพ มีทารก 4 เดือนรวมอยู่ด้วย สลดยังพบนอนตายคาบ้าน 26 ศพ ศบค.ห่วงกลุ่มเปราะบาง แนะบ้านมีคนแก่-เด็ก-ผู้ป่วยติดเตียง ต้องแยกห้องนอน เปิดข้อมูล ฉีดวัคซีนสองเข็ม ตายแค่ 0.5% สรุประบบรักษาตัวที่บ้าน ลดอัตราคนรอเตียงน้อยลง เตียงรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้นปัจจุบันว่าง 5 พันเตียง ย้ำ ATK ผลเป็นบวกเข้าระบบรักษาทันที ไม่ต้องรอ RT-PCR ขณะที่ อภ.ปรับแผนเพิ่มสต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์ รองรับการรักษาที่จ่ายยาเร็วขึ้น
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมในเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเข้าพักอยู่ระดับต่ำมาก ส่งผลให้เกือบ 60% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจไม่ถึง 3 เดือน ส่วนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลบวกต่ออัตราเข้าพักโดยรวมไม่มากนัก
- ‘สมุย พลัส โมเดล’ ล้อมคอกประชุมร่วมตำรวจ 5 โรงพัก ทั้งเกาะสมุย-พะงัน-เต่า เพิ่มมาตรการเข้มข้นดูแลนักท่องเที่ยว ป้องกันเหตุซ้ำรอย ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
- สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 590,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค.2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.27 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 9.50 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
- นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 4.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี
- นักลงทุนคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.
- ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนก.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยในไตรมาส 2/2564, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท