นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมวางแผนการผลิตยาของประเทศในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (กองยา) องค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร สภากาชาดไทย และสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ร่วมประชุมด้วย เพื่อวางแผนและจัดสรรกำลังการผลิตยาในภาพรวมให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะยารักษาโรคเรื้อรังประกอบด้วย
1. ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) ใช้ลดระดับคลอเรสเตอรอลชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด
2. ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาใช้รักษาโรคเบาหวาน
3. ยาลอซาร์แทน (Losartan) ลดความดันโลหิตที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว
4. ยาโพรพาโนลอล (Propanolol) ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
5. วิตามินB1 6 12
6. ยากรดโฟลิก (Folic acid) รักษาภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงและภาวะขาดกรดโฟลิก
7. ยาฟลูออกซิทีน รักษาโรคซึมเศร้า (Fluoxetine) และ ยาลอราตาดีน (Loratadine) รักษาภูมิแพ้ ซึ่งปัจจุบันองค์การฯไม่ได้ผลิตแล้ว
ทั้งนี้ ยาดังกล่าวองค์การฯยังคงมีการผลิตและสำรองให้ผู้ป่วยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ และองค์การฯได้ขอความร่วมมือให้บริษัทผู้ผลิตยาเอกชนอื่น ๆ ซึ่งมีทะเบียนตำรับยาดังกล่าวอยู่ ดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประชุมสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันยินดีที่จะนำไปวางแผนร่วมกับบริษัทผลิตยาเอกชนอื่น ๆ เพื่อเร่งทำการผลิตต่อไป
นอกจากนั้น ยังพบว่าขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศบางบริษัทได้เริ่มทำการวิจัยพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นมาบ้างแล้ว เป็นน่ายินดีที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในส่วนยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มมากขึ้น
“แผนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (ยาฟาเวียร์) ขององค์การเภสัชกรรม ในเดือนสิงหาคม จำนวน 2.5 ล้านเม็ด กันยายนผลิตเพิ่มเป็น 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะผลิตเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 40 ล้านต่อเดือน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการและการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งจากการนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตเองให้เพียงพอสอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)
Tags: ผลิตยา, ผู้ป่วยเรื้อรัง, วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์, องค์การเภสัชกรรม, โรคเรื้อรัง