นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 64 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาส 2 ของปี 63 ที่หดตัวถึง -3.1% เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 63 และช่วงต้นปี 64 มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศโดยทั่วไปที่เอื้ออำนวย และไม่ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้สถานการณ์การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 64 คงคาดการณ์ตามเดิมว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7-2.7%
จากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ โดยผลกระทบที่ได้รับมีสาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคต่อสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง เพราะมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การล็อคดาวน์ และการควบคุมพื้นที่การจำกัดเปิดร้านค้า และร้านอาหารต่างๆ โดยผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-ส.ค.64) ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก (กรณี 5 เดือน) โดยสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท รองลงมา คือ การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทยยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงถือเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญ ทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร (มูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปเกษตรอย่างง่าย) รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม แรงงานย้ายคืนถิ่นภาคเกษตรอาจเป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร และการตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเพื่อความอยู่รอด บางกลุ่มจึงอาจต้องการมีทักษะการให้ความรู้ การฝึกอบรม และช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งพัฒนาและแชร์ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ระหว่างกันเพื่อช่วยวางแผนพัฒนาภาคเกษตรในทุกมิติ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมแนวทางดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill/reskill) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Smart Farm) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับปัจจัยลบต่างๆ ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ (economic shocks) ในอนาคตได้ดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 64)
Tags: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, สศก., สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, เศรษฐกิจการเกษตร, เศรษฐกิจไทย