นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มอาจติดลบในปีนี้ โดยในไตรมาสแรกปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลแล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าในไตรมาส 2 และ 3 จะยังคงขาดดุลต่อเนื่อง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลง คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนมีเงินไหลออกสุทธิไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านดอลลาร์ โดยมีทั้งการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดการเงิน ปีที่แล้วเงินทุนไหลออกสุทธิประมาณ -3.59 พันล้านดอลลาร์ อัตราการค้าปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากราคานำเข้าสินค้าเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออก
ด้านเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งตัวเลขการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ตัวเลขตำแหน่งงานเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นถึง 943,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง การกระเตื้องขึ้นของดัชนีภาคการผลิตและการบริการ ดัชนีค้าปลีกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจทยอยลดวงเงินในการทำ QE ลงในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
นายอนุสรณ์ มองว่า แม้การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นภาพสะท้อนของภาวะเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงอย่างมาก แต่ผลของการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม จะช่วยกระตุ้นภาคส่งออก การจ้างงาน และรายได้จากการท่องเที่ยวหากสามารถเปิดประเทศได้ ผลกระทบในทางลบที่มีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และแรงกดดันเงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่จำนวนมาก และอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมยังต่ำอยู่เฉลี่ยอยู่ที่ 66-67% ไม่ว่าพิจารณาปัจจัยทางด้านอุปสงค์หรืออุปทาน ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ คาดการณ์จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำพิเศษไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเร่งตัวของเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินบรรเทาลง อัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน
“ขอให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาอย่างจริงจังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหลือ 0% หรืออย่างน้อยต้องลดลงให้เหลือ 0.10% ในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจที่จะทรุดตัวลงในปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 65 หากตัดสินใจช้า จะไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้ทันการณ์ และดูเหมือนว่า ประเทศคงจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์อยู่เป็นระยะ ๆ และคาดว่ามาตรการการคลังมีข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่น่าจะทะลุเพดาน 60% อย่างแน่นอน” นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.นั้น จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งลดภาระต่อเงินสาธารณะในกรณีเกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินขึ้นในอนาคต หรือธนาคารถูกเพิกถอนใบอนุญาต อัตราขยายตัวของการฝากเงินของประชาชนและกิจการต่าง ๆ ก็ปรับตัวลงอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 คนฝากเงินในระบบสถาบันการเงินที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทในแต่ละธนาคารมีอยู่ประมาณ 2% ของทั้งระบบ 97-98% ของผู้ฝากเงินมีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเงินฝาก e-money มากขึ้นตามลำดับ
ดังนั้น จึงควรขยายวงเงินฝากให้ครอบคลุมเงินฝาก e-money และควรขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 1 ล้านบาท เป็น 2-3 ล้านบาท เมื่อบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองวงเงิน 1 ล้านไปเป็นระยะ 1-2 ปีแล้ว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางการเงินอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, ลดดอกเบี้ย, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย