นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทางการ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ สปา ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเนื่อง
สสว. จึงมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นหน่วยร่วมดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อให้เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยายกิจกรรม ปรับปรุง ซ่อมแซม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดา ใช้บุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนกรณีนิติบุคคล ใช้กรรมการผู้มีอำนาจแทนนิติบุคคลค้ำประกัน
โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้สะดวก เหมาะสมกับสถานการณ์เร่งด่วน ดังนั้นได้ปรับปรุงกระบวนการ โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากหลักฐานการเสียภาษีในปี 2563 หรือ 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นกู้ในโครงการนี้ ต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว. สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้ (http://members.sme.go.th/newportal/) โดยต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย (Micro) และขนาดย่อม (Small) ตามนิยามของ สสว. อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮ้าส์ และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์ ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.ภูเก็ต 2.กระบี่ 3.พังงา 4.สุราษฎร์ธานี 5.เชียงใหม่ 6.ชลบุรี 7.เพชรบุรี 8.ประจวบคีรีขันธ์ 9.บุรีรัมย์ และ 10.กรุงเทพมหานคร หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม
รวมถึงกลุ่มธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับล่าสุด ประกอบด้วย 1. กรุงเทพมหานคร 2. กาญจนบุรี 3. ชลบุรี 4.ฉะเชิงเทรา 5. ตาก 6. นครปฐม 7. นครนายก 8. นครราชสีมา 9. นราธิวาส 10. นนทบุรี 11. ปทุมธานี 12. ประจวบคีรีขันธ์ 13. ปราจีนบุรี 14. พระนครศรีอยุธยา 15.เพชรบุรี 16. ปัตตานี 17. เพชรบูรณ์ 18. ยะลา 19. ระยอง 20. ราชบุรี 21. ลพบุรี 22. สงขลา 23. สิงห์บุรี 24. สมุทรปราการ 25. สมุทรสงคราม 26. สมุทรสาคร 27. สระบุรี 28. สุพรรณบุรี และ 29. อ่างทอง หรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม
อีกทั้งต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเงินทุนในโครงการพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รวมถึงต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
สำหรับวงเงินกู้สำหรับบุคคลธรรมดา พิจารณาจากการชำระภาษี ภ.ง.ด.90 ในปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า และความเป็นเจ้าของสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท หากจำนวนเงินที่ชำระภาษี 0-10,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท, จำนวนเงินที่ชำระภาษี 10,001-20,000 บาท วงเงินกู้สูงสุด 200,000 บาท และจำนวนเงินที่ชำระภาษีมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท กรณีมีสถานประกอบการเป็นของตัวเองหรือบุคคลในครอบครัว ให้วงเงินเพิ่มอีกลำดับละ 50,000 บาท แต่รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับนิติบุคคล ไม่เกิน 50% ของค่าใช้จ่ายในงบการเงินปี 2562 หรือ 2563 ที่สูงกว่า สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ยื่นกู้ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิก https://qrgo.page.link/VF6Ka รวมถึงเว็บไซต์ของ SME D Bank (https://www.smebank.co.th/), Line OA : SME Development Bank และแอปพลิเคชั่น : SME D Bank ตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะเต็มวงเงิน โดยใช้เกณฑ์มาก่อนได้ก่อน (first come first serve) หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 64)
Tags: SME, ท่องเที่ยว, ธพว., ร้านอาหาร, วีระพงศ์ มาลัย, สสว.