กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวลง 5.1% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากการบริโภคในปี 2563 ได้รับแรงหนุนอย่างมากจากโครงการแจกเงินสดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบในช่วงแรกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของภาคครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปอยู่ที่ 260,285 เยน (2,370 ดอลลาร์) ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
ด้วยเป้าหมายที่จะบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลได้เริ่มแจกเงินสดให้กับประชาชนจำนวน 100,000 เยนต่อคนในเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นการซื้อเครื่องใช้ภายในบ้านและสินค้าอื่นๆ ในเดือนมิ.ย.
การใช้จ่ายด้านบัตรโดยสารขนส่งสาธารณะก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้วนักเรียนและพนักงานจำนวนมากซื้อบัตรดังกล่าวเนื่องจากในขณะนั้นโรงเรียนและสถานที่ทำงานเปิดทำการอีกครั้งหลังการยกเลิกภาวะฉุกเฉิน
เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากไม่ได้ไปพบแพทย์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ มีการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น 2.7%
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อย 2 คนร่วงลงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 11.5% สู่ระดับ 904,078 เยนในเดือนมิ.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการแจกเงินสด 100,000 เยนในปีที่แล้ว
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)
Tags: GDP, ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน, เศรษฐกิจญี่ปุ่น