นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำตาปี และบริเวณท้ายเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับฝนคาดการณ์ในระบบ ONE MAP
เนื่องจากเขื่อนรัชชประภามีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ (6 ส.ค.64) ถึงวันที่ 11 ส.ค.64 วันละ 10-20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิมวันละ 5-7 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจาก บมจ.ปตท. (PTT) จะหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ JDA-A18 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 6-11 ส.ค.64 รวมระยะเวลา 6 วัน ทำให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะไม่สามารถเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงก๊าซได้ตามปกติ จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนรัชชประภาเพื่อเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยการเพิ่มอัตราการระบายน้ำดังกล่าว ไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนรัชชประภา และยังอยู่ในความสามารถรองรับน้ำของแม่น้ำพุมดวง และแม่น้ำตาปี ตามที่ สสน.ได้จำลองสถานการณ์การระบายน้ำจากเขื่อนรัชชประภา กรณีระบายน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดที่วันละ 20 ล้าน ลบ.ม.ก็จะไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมและความจุลำน้ำสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ระบายได้ โดยเขื่อนรัชชประภาจะระบายน้ำในอัตรา 390 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้แม่น้ำพุมดวง บริเวณท้ายเขื่อน อ.บ้านตาขุน ระดับน้ำสูงสุด ในช่วงบ่าย นที่ 6 ส.ค. 64 ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1.53 เมตร บริเวณ อ.คีรีรัฐนิคม ระดับน้ำสูงสุดในช่วงเช้า วันที่ 7 ส.ค. 64 ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2.22 เมตร โดยการเพิ่มอัตราการระบายน้ำไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ และแม่น้ำยังสามารถรองรับน้ำได้
ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำของเขื่อนรัชชประภา (5 ส.ค.64) มีปริมาณน้ำ 3,504 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของความจุ ส่วนระดับน้ำของแม่น้ำพุมดวง บริเวณ อ.คีรีรัฐนิคม (6 ส.ค.64) มีระดับน้ำอยู่ที่ 3.66 เมตร ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 6.80 เมตร แม้การเพิ่มการระบายน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้ระดับน้ำในลำคลองพุมดวงเพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบกับประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนรัชชประภา การสัญจรทางเรือ และผู้เลี้ยงปลาในกระชังบริเวณคลองพุมดวงและแม่น้ำตาปี แต่อาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นเล็กน้อยต่อระดับน้ำในแม่น้ำตาปี บริเวณ อ.พุนพิน ที่รับน้ำจากแม่น้ำพุมดวงก่อนลงสู่ทะเล เนื่องจากบริเวณดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล และอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ใช้ประโยชน์บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฏร์ธานีได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยงล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่ง กอนช.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากมีปริมาณฝนตกในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการป้องกันต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)
Tags: กฟผ., กอนช., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ระบบไฟฟ้า, ระบายน้ำ, ลุ่มน้ำตาปี, สถานการณ์น้ำ, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ, สทนช., สมเกียรติ ประจำวงษ์, สสน., เขื่อน, เขื่อนรัชชประภา