นายเกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/64 ยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังมีการเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนเทขายหุ้นไทยออกไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท และยังไม่มีสัญญาณการกลับมาซื้อที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันเงินบาทที่อ่อนค่ามาทะลุ 33 บาท/ดอลลาร์ เป็นทิศทางการอ่อนค่าตามจำนวนผู้คิดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทยจากความเสี่ยงเงินบาทที่อ่อนค่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันถึง 10% ทำให้หากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้จะมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สูงถึง 10% ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังขาดแรงหนุนในการฟื้นตัวกลับขึ้นมา
นายเกษม กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศต่อไปว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศได้เร็วหรือไม่ หากสามารถควบคุมให้ดีขึ้นได้ภายในไตรมาส 3/64 ก็จะทำให้ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ได้เร็ว และกลับมาเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ก็คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 4/64 โดยประเมินว่าในกรณีนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวกลับขึ้นไปแตะระดับ 1,600 จุดได้ในไตรมาส 4/64 และจะอยู่ที่ระดับ 1,690 จุดในสิ้นปี 64
แต่หากสถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4/64 ก็จะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดต่อตลาดหุ้นไทยต่อไป ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,500 จุด หรืออยู่ที่ราวสิ้นปี 64 ก็มีโอกาสเป็นไปได้
นอกจากนี้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบมากต่อการกลับมาฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ในไตรมาส 3/64 ประกอบกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถเปิดประเทศนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างเต็มที่
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกและการค้าของโลก เช่น กลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี กลุ่มการส่งออก กลุ่มอาหารที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนัก โดยยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้ดี ทำให้ในปี 64 ยังมองว่าภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะยังเติบโตได้ 40% จากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่มีฐานต่ำ และปี 65 คาดว่าจะเติบโตได้ 13-14%
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ยังคงแนะนำให้เลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมือง (Re-openning) ชั่วคราว เพราะเผชิญกับความไม่แน่นอนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศว่าจะสามารถควบคุมให้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/64 หรือไม่ แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับลงมาค่อนข้างมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ และหาจังหวะการเลือกกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจต่างประเทศและได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน เพื่อหาจังหวะในการทำกำไรระยะสั้น เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก กลุ่มอาหารส่งออก กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาล ที่ได้รับประโยชนืจากการให้บริการตรวจและรักษาโควิด-19
นายดนัย อรุณกิตติชัย ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Wealth Advisory by CIMB THAI กล่าวว่า การกระจายการลงทุนในพอร์ตลงทุนไปในกลุ่มประเทศต่างๆ ในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดมากในภูมิภาคอาเซียนปัจจุบัน ส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม TIP ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ ที่เงินไหลออกไปจากตลาดหุ้นค่อนข้างมาก จากสถานการณ์โควิด แต่เวียดนามยังเป็นหนึ่งในอาเซียนที่ยังมีเม็ดเงินกลับมาเข้ามาลงทุน และตลาดหุ้นมีการปรับตัวดีที่สุดในกลุ่มตลาดหุ้นเกิดขึ้นในอาเซียน
โดยธนาคารยังมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนยังมีโอกาสในระยะกลาง-ยาว หลังจากผ่านพ้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปแล้ว เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเป็นซัพพลายเชนที่สำคัญในการผลิตที่จะต้องมีการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ และส่งสินค้าให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกอบกับการบริโภคของตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนยังมีการเติบโตได้มาก รวมถึงภาคบริการในประเทศอาเซียนที่จะเป็นอีกแรงหนุนที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้การผ่านพ้นของวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ไปแล้วประเทศในกลุ่มอาเซียนจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธนาคารยังมองว่าเป็นโอกาสในการทยอยเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มอาเซียนมีการปรับฐาน
“ยังมองว่าตลาดหุ้นในอาเซียนเป็นหลุมหลบภัยให้กับพอร์ตได้ เพราะโควิดที่เกิดขึ้นมาล่าสุดตลาดหุ้นในอาเซียนก็ได้ปรับฐานไปมากแล้ว ยกเว้นเวียดนามที่ยัง Perform ได้ดี แต่ถ้ามองในระยะต่อไป การลงทุนในตลาดหุ้นอาเซียนก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นหลังโควิดจบลง เพราะกลุ่มอาเซียนยังคงมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ทำให้เรามองว่ายังมีโอกาสในการจัจังหวะการทยอยเข้าลงทุนได้”
นายดนัย กล่าว
ช่วงนี้แนะนำให้เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก เพราะไม่ค่อยมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้มาก แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ต้องปิดเมืองออกมา ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ต่อได้ และเป็นกลุ่มประเทศที่มีธุรกิจด้านเทคโนโลยีอยู่มาก ที่ยังเห็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ส่วนจีน ยังให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไปก่อน จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายของผู้นำจีนในการจัดระเบียบภาคธุรกิจต่างๆในจีน ทำให้อาจจะมีความเสี่ยงดังกล่าวเข้ามากระทบต่อควาเชื่อมั่นในการลงทุนระยะสั้น
ทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดนเด่น ยังเป็นกองทุนที่ลงทุนในเวียดนามที่ยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค โดยกองทุนหลัก ได้แก่ กองทุน Principal VNEQ-A ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนเวียดนามแต่ความเสี่ยงในแง่ของความผันผวนก็น้อยและเนื่องจากกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมและในหลายประเทศ ได้แก่ กองทุน KT-ASEAN
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย CIMBT กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก ส่งผลให้ธนาคารประเมินไปแล้วในครั้งก่อนว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ต่ำกว่า 1% มาที่ 0.7% ซึ่งเป็นตัวเลข Base line ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการเปิดเผยออกมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้
ประเด็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศว่าจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้ในช่วงกลางเดือนส.ค.-ก.ย. 64 หรือไม่ เพราะหากสามารถควบคุมได้ก่อนเข้าสู่ไตรมาส 4/64 จะทำให้เห็นการกลับมาเปิดเมืองได้ และมีโอกาสเปิดการท่องเที่ยวกลับมาในหลายจังหวัด แต่หากควบคุมไม่ได้ ยังมีการปิดเมืองต่อ และภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ก็อาจจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสไม่เติบโตหรือเข้าโหมดติดลยได้
อีกประเด็นความเสี่ยงสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นซัพพลายเชนหลัก และเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากภาคอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกมา เป็นสิ่งที่จะต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ เพราะถ้าภาคอุตสาหกรรมในประเทศต้องหยุดชะงักไป จะส่งผลเสียต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะกลไลที่สำคัญที่ยังพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้จะหายไป
หากมองไปข้างหน้าเมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายและจบลงไป การรวมกลุ่มของอาเซียนที่จะก้าวไปสู่ RCEP ที่มี 10 ประเทศอาเซียน รวมกับ 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจะมีอินเดียตามมาประเทศที่ 6 ซึ่งประเทศสมาชิกที่มากขึ้นจะเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนในภูมิภาคเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดที่ฉุดเศรษฐกิจแต่ละประเทศชะลอตัว ส่งผลให้การค้าการลงทุนในภูมิภาคจะช่วยให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนพลิกโอกาสขึ้นมาเติบโตได้ดีขึ้นหลังยุคโควิดเป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)
Tags: ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, ตลาดหุ้นไทย, อมรเทพ จาวะลา, เกษม พันธ์รัตนมาลา, เศรษฐกิจไทย