นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนก.ค.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 20-29 ก.ค.64 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 20.7 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมิ.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 22.5 โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีกทั้งดัชนี TCC-CI ยังลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือน มิ.ย.62
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.5 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 22.5, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 21.8 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 23.5, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 24.8 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 26.6, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.7 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 22.3, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 20.1 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 21.8 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 17.8 ลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่ 19.7
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่มีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ค.ลดลง คือ
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากสถานการณ์ยังไม่สามารถควบคุมได้
- มาตรการเร่งด่วนขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโ ดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการ
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2564 เหลือ 1.3% ซึ่งลดลงจากครั้งที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3%
- การสั่งปิดกิจการทางธุรกิจในหลายประเภท ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและทยอยปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง
- ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.43 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 เป็น 32.61 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 64
- ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง
ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนก.ค. คือ
- ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการออกมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการเพิ่มเติม ในพื้นที่ครอบคลุม 13 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus
- การเร่งฉีดวัคซีนของทั้งโลก ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น และการฉีดวัคซีนโควิดเริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
- การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย. 64 ขยายตัว 43.82% มูลค่าอยู่ที่ 23,699 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้มีการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้
- เร่งจัดหาวัคซีนในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
- เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
- เร่งทำการรับผู้ป่วยที่ยืนยันผลเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
- ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)
Tags: จีดีพี, ดัชนีความเชื่อมั่น, ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ล็อกดาวน์, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย