นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กพอ. ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้รับทราบความก้าวหน้าการลงทุนใน อีอีซี เกิดการลงทุนรวม จากงบบูรณาการอีอีซี โครงสร้างพื้นฐาน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ มีมูลค่าสูงถึง 1,594,282 ล้านบาท (ณ 30 มิ.ย. 2564) จากแผนงาน มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีการลงทุนที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน (โครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งได้ผู้ลงทุน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท เกิดการลงทุนในปี 2564 มูลค่า 26,588 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาที่เหลือของโครงการ สูงถึง 606,205 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักมี 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 276,561 ล้านบาท โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 204,334 ล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F1 และ ท่าเทียบเรือ F2 มูลค่า 79,200 ล้านบาท และ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 73,305 ล้านบาท
ขณะที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน(MRO) อยู่ระหว่างออกแบบจัดทำแผนแม่บท และรอความชัดเจนแผนฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทย (THAI)
สำหรับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี 64 คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุน 2.5 แสนล้านบาท จากปี 63 ที่มีมูลค่าลงทุน 257,599 ล้านบาท โดยในงวด 6 เดือนแรกปี 64 มีมูลค่าลงทุน 88,083 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนล้านบาทในปี65
นายคณิศ กล่าวว่า อีอีซีคาดว่าจะปรับเพิ่มเงินลงทุน จากแผนเดิม 1.7 ล้านล้านบาท ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 60 เนื่องจากเห็นว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 4 อุตสาหกรรมได้แก่ ธรกิจเกี่ยวกับ 5G ธุรกิจการแพทย์สมัยใหม่ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Biocircular Green Economy : BCG) ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาอย่างน้อยปีละ 1 แสนล้านบาท
โดยในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับ 5G ซึ่งปัจจุบันพื้นที่อีอีซีมีโครงข่าย 5G ครอบคลุม 100% แล้ว โดยล่าสุด หัวเหว่ยได้เสนอแผนลงทุนเฟส 2 ที่จะนำระบบ Automation ใหกับโรงงาน ,ลงทุน Start up ซึ่งเชื่อว่า 5G จะนำเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ได้ชักชวนบริษัทสัญชาติสหรัฐฯและจีน ลงทุน EV Station ซึ่งจะสร้างไม่น้อยกว่า 100 แห่งในปีนี้ และเพิ่มอีกอย่างน้อย 200 แห่งในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะมีรถ EV เข้ามาในไทย ซึ่งเห็นการลงทุนทยอยเข้ามา และยังมีธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์สมัยใหม่ ธุรกิจวัคซีน
“ตอนที่เราทำ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายก็ยังคาดเดา แต่วันนี้เริ่มเห็นว่ามีการลงทุนเข้ามา ก็มี 5G ,EV, Medical, BCG ซึ่งพื้นที่ EEC 30% ก็เป็นพลังงานสะอาด …4 อุตสาหกรรมนี้คิดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ตอนนี้คิดว่ากำลัง Review อยู่คิดว่าได้เงินลงทุนเพิ่มเข้ามาอย่างน้อยปีละ 1 แสนล้านบาท ฉะนั้น EEC ก็จะเป็นฐานดึงเทคโนโลยี ดึงเม็ดเงินลงทุน ให้ประเทศไทยในอนาคตให้มากขึ้นกว่าที่เราวางแผนไว้” เลขาธิการ กพอ.กล่าว
นอกจากนี้ก็ยังมีเมืองใหม่เข้ามาที่จะทำให้เกิดการลงทุนจำนวนมากเข้ามาด้วย แม้ว่าในปี 63 ที่เกิดการระบาดโควิดทำให้เม็ดเงินลงทุนของไทยพลาดไป 2.2 ล้านล้านบาท ปีนี้อาจไม่เสีย แต่ไม่ได้เพิ่ม ปัจจุบันก็ปรับลด GDP ไปเหลือ 1% แต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การลงทุนเหล่านี้ที่รออยู่แล้วก็จะกลับมา ขึ้นมาได้ประมาณ 4-5 แสนล้านบาทก็จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 4-5%
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ โครงการ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลทำงานเพื่อวันนี้และอนาคต รองรับโลกยุคใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ พร้อมกำชับทุกส่วนราชการเน้นใช้จ่ายงบประมาณต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องของอุตสาหกรรมต้องไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันจะทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐเกิดผลได้เร็วขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 64)
Tags: EEC, คณิศ แสงสุพรรณ, อีอีซี, โครงสร้างพื้นฐาน