นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบว่า มีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่หลายแห่ง รวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตร เช่น เขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันในบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของพี่น้องเกษตรกร จากข้อมูลดังกล่าวทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำมาวางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย โดยจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว
โดยข้อมูลของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีอยู่ถึง 22 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% มีมากถึง 116 แห่ง ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ จึงได้เร่งหามาตรการและจัดทำแผนเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร
“ขณะนี้ประชาชนประสบวิกฤตในหลายด้านและมีความเป็นอยู่ที่ลำบากจึงไม่อยากให้เกิดวิกฤตการณ์น้ำแล้งหรือขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรหรืออุปโภค บริโภคมาซ้ำเติมเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก” นายสุรสีห์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อช่วยเหลือประชาชน พื้นที่นาข้าวและพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนรวมทั้งความชื้นในดินและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อมาวิเคราะห์ปรับแผนให้สอดคล้องในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ให้ได้มีปริมาณน้ำมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำต้นทุนไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)
Tags: กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, ฝนหลวง, ฝนเทียม, สุรสีห์ กิตติมณฑล