นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยข้อมูลปริมาณเฉลี่ยผู้โดยสารรายวันในระบบขนส่งทางรางทุกระบบ พบว่าปริมาณผู้โดยสารลดลงกว่า 88.8%
ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งทางรางที่ลดลงเกิดขึ้นภายหลังประกาศข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 จนถึง ฉบับที่ 28 ในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อปริมาณการเดินทางในระบบขนส่งทางราง ได้แก่ การห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การจำกัดบริการการเดินทางและขบวนรถ การควบคุมความหนาแน่นในขบวนรถและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และจำกัดกิจกรรม/กิจการ ฯลฯ ที่มีการบังคับใช้แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์การระบาดของโรคจนถึงปัจจุบันซึ่งยังคงมีการระบาดระลอกใหม่ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
จากข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงก่อนการระบาดภายในประเทศในปี 62 เทียบกับปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยในช่วงที่มีการระบาดและมีประกาศข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 จนถึงปัจจุบัน พบว่าปริมาณผู้โดยสารลดลง โดยรวมถึง 88.8% เหลือเพียงวันละ 138,169 คน/วัน จำแนกตามระบบ ดังนี้
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (SRT) ลดลง 90.76% เหลือ 7,896 คน/วัน
2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) ลดลง 80.05% เหลือ 67,251 คน/วัน
3. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ARL) ลดลง 86.75% เหลือ 9,531 คน/วัน
4. รถไฟฟ้า BTS ลดลง 82.27% เหลือ 130,240 คน/วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)
Tags: ARL, BTS, MRT, SRT, กรมขนส่งทางราง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, กิตติพันธ์ ปานจันทร์, ผู้โดยสาร, รถโดยสารสาธารณะ, รถไฟฟ้า, รฟท., ล็อกดาวน์