รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีวาะการพิจารณาที่สำคัญ คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอขยายหลักการมาตรการจ่ายเงินเยียวยา ลูกจ้าง นายจ้าง ตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่มีการปรับโซนสีจากเดิมมี 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด
– จับตาว่ากระทรวงมหาดไทย จะเสนอรายชื่อปลัดกระทรวงมหาดไทย คนใหม่แทนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่จะเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนนี้ต่อครม.หรือไม่
– กระทรวงการต่างประเทศ เสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review : UPR ) รอบที่ 3 ภายหลังเว็บไซต์ amnesty ได้ขยายความหมายของรายงาน UPR ว่าเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการทำงานภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วยความติติงกันฉันท์มิตร ปกติรัฐจะให้ความร่วมมือทุกประเทศ
ทั้งนี้ UPR กำหนดให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศตัวเอง เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อยกเว้น การทบทวนแต่ละรอบ จะใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง ปีนี้กระบวนการ UPR จะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย. 2564
– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอขอปรับลดหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์ 4 ) และเพิ่มกรอบงบ ลงทุน โครงการบ้านเคหะสุขเกษม
– กระทรวงศึกษาธิการ เสนอโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
– สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ในปีงบประมาณ 2565
ทั้งนี้จะมีการรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์(Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 1 ก.ค.2564 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ระดับ Tier 2 Watch List ลดระดับจาก Tier 2 เมื่อปีที่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 64)
Tags: กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน, ค้ามนุษย์, ประกันสังคม, ประชุมครม., ลูกจ้าง, สิทธิมนุษยชน, เยียวยา