เอกชนจี้รัฐจัดหาชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย แนะปรับเกณฑ์แยกผู้ป่วยโควิด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ ได้หารือกับภาคเอกชนในเครือข่ายเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ว่ายังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะพยายามตรวจเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่รวดเร็วและเพียงพอ นอกจากนั้น การจัดหาและกระจายวัคซีนก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ ทำให้การระบาดในระลอกที่ 4 นี้ รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน

รวมทั้งจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และชุมชนที่มีแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมและตัดวงจรการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการผลิตและส่งออก ซึ่งเป็นช่องทางสุดท้ายที่เศรษฐกิจไทยเหลืออยู่ อาจจะเกิดการปิดโรงงาน หยุดการผลิต หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรฐกิจทั้งประเทศจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

หอการค้าไทย และเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ จึงได้เสนอแนวทางและมาตรการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน โดยมีประเด็นข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. แนวทางที่ภาคเอกชนจะดำเนินการ เพื่อเสริมการดำเนินงานของรัฐบาล

– ภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ในขณะนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตรวจหาเชื้อ เพื่อให้ทราบตัวผู้ติดเชื้อก่อน โดยใช้แนวคิด “รู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” โดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนการจัดหา Antigen Test Kit ให้มีราคาถูก หลากหลาย มีคุณภาพ และหาซื้อได้ง่าย ทั้งนี้ จะต้องเร่งดำเนินการในเชิงรุก รวมถึงมีการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น วิธีการใช้ชุดตรวจทำอย่างไร ทิ้งอย่างไร ตรวจแล้วพบเชื้อต้องดำเนินการอย่างไร โดยอาจมีการทำคู่มือสำหรับประชาชนและสถานประกอบการ พร้อมย้ำว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจของโรคกับประชาชน (Covid Literacy) ให้เข้าใจวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง และทันต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค

– ภาคเอกชนหลายบริษัทได้มีการกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติกลาง เพื่อนำไปปรับใช้สำหรับสถานประกอบการหรือโรงงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของสถานประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ในลักษณะการจัดทำแผนหรือมาตรการดูแลพนักงาน ทั้งกรณีที่ทำงานและที่พักอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และกรณีที่ทำงานกับที่พักอยู่ต่างที่กัน ทั้งแผน Home Isolation/ Company Isolation นอกจากนั้น ยังพร้อมทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลและโรงแรม เพื่อเป็นที่พักให้พนักงานที่ติดเชื้อ มีการอบรมพนักงานในโรงแรม ให้สามารถช่วยเหลือทีมแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้ และให้เอกชนจับคู่กับโรงพยาบาลใกล้เคียงหรือโรงพยาบาลภายใต้ ม.33 เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและดำเนินการ เป็นต้น

– การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่มีแนวทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม หอการค้าไทย เสนอให้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการทำความเข้าใจ วิธีการป้องกันใหม่ รวมถึงแนวทางการดำเนินการ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชน ให้เข้าใจตรงกันและปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ในรูปแบบของพี่ช่วยน้อง นอกจากนั้น เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึง Rapid Antigen Test kit ในราคาที่เหมาะสม หอการค้าไทยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำคำแนะนำ และช่วยผู้ประกอบการจัดหาชุดตรวจฯ ในราคาที่เหมาะสมต่อไป

2. ขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐ

– Rapid Antigen Test Kit ในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ หรือภาครัฐมีการสนับสนุน หาซื้อได้ง่าย มีคุณภาพตามมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอ

– ปรับระบบการบริหารจัดการเตียงใหม่ โดยแยกประเภทและการใช้ระหว่างกลุ่มเสี่ยง (สีเขียว) และผู้ป่วย (สีเหลือง สีแดง) ให้ชัดเจน ปรับลดเกณฑ์ Hospitel และเพิ่ม Hotel Isolation สำหรับรองรับกลุ่มสีเขียว เพื่อลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง

– เพิ่มจำนวนสถานที่และเตียง โดยภาครัฐสามารถมาสนับสนุนเอกชนในการทำ Company Isolation หรือ Hospitel โดยติดต่อโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยรัฐบาลช่วยจ่ายค่าที่พัก รวมถึงการลงทุนของโรงแรม ในการปรับระบบการจัดการสถานที่ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ติดเชื้อ

– การใช้ Telemedicine ควรมี database กลาง และกระบวนการที่ชัดเจน โดยเพิ่มการแนะนำและติดตามอาการผ่านวิดีโอคอล มีแพทย์ให้คำแนะนำดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ป่วย

– 25 ศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

– ในระยะถัดไป อาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัสอีก ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น วัคซีน ยา และ Rapid Test Kit เป็นต้น เพื่อให้มีการผลิตในประเทศไทย โดยสามารถให้เอกชนร่วมกันสนับสนุน

“สถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนกำลังตามแก้ไขปัญหา ทุกส่วนจึงต้องปรับวิธีการให้เป็นเชิงรุกอย่างจริงจัง หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน ตลอดจนสมาชิกทุกกลุ่มธุรกิจ มีความพร้อมและยินดีที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อหาแนวทางร่วมแก้ไขวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้” นายสนั่น กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top