AMR ปิดเทรดวันแรก 6.95 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 0.72%

หุ้น AMR ปิดเทรดวันแรกที่ 6.95 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท (+0.72%) จากราคาขาย IPO ที่ 6.90 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,354.05 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 8.20 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 8.35 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 6.90 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) ในปี 65 อยู่ที่ 8.1-10 บาท หรือ P/E ปี 2565 ที่ 28 เท่า (เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจและขนาดใกล้เคียงทั้งใน SET และ MAI ) จากงานในมือช่วงสิ้นไตรมาส 1/64 กว่า 1,400 ล้านบาท และแนวโน้มที่ดีจากโอกาสการประมูลงานใหม่ในอนาคตจากภาครัฐที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือจากงานวางระบบคมนาคมอย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ, โครงการรถไฟเชื่อมระหว่างจังหวัด และโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ประกอบกับแผนการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ อย่างการเพิ่มรายได้จากบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงซึ่งมีเป้าหมายที่ 250 ล้านบาทภายในปี 66 และแผนการลงทุน ซึ่งจะเป็นการลงทุนต่อยอดด้านการเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบราง, การพัฒนาในธุรกิจ EV Charging Station และโครงการ Smart City ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทในระยะยาว

ปัจจัยที่ต้องระวังของ AMR คือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูง, ความไม่สม่ำเสมอของรายได้(ปีนี้อาจลดลงเนื่องจากปีก่อนมีรายได้จาก 2 โครงการใหญ่) และการควบคุมต้นทุน

AMR ดำเนินธุรกิจโดยการเป็นผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมออกแบบ วางระบบเดินรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่ และเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator) รวมถึงให้บริการงานดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบเทคโนโลยีแบบครบวงจร ในรูปแบบที่เป็นผู้รับเหมาหลัก และผู้รับเหมาช่วง

โดยแบ่งบริการตามสัดส่วนรายได้หลักๆ ได้ดังนี้

1) งานให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง เช่นการวางระบบไฟฟ้าหลัก, การวางระบบสื่อสาร ควบคุมและสั่งการระยะไกล และการวางระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ เป็นต้น โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/64 ที่ 52.80%

2) งานให้บริการวางระบบไอซีทีและซิสเต็มส์โซลูชั่น ในโครงการที่หลากหลาย เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, การระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัย และระบบควบคุมและสั่งการระยะไกล เป็นต้น โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/64 ที่ 15.79%

3) งานดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/64 ที่ 8.46% และ 4) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีโซลูชั่นทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/64 ที่ 22.8%

โครงการในอนาคตของบริษัท บริษัทฯ มีแผนในการใช้เงินลงทุนหลังการ IPO ได้แก่

1) บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งสายหลัก, สายระหว่างเมือง และสายรอง โดยอาจพิจารณาเข้าลงทุนทั้งหมด หรือร่วมลงทุนบางส่วน และอาจเข้าประมูลเพื่อให้บริการรับเหมางานระบบเพียงอย่างเดียว หรือเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) (คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 544.35 ล้านบาท) รวมไปถึงการร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วน และระบบที่เป็นระบบย่อยของงานเดินรถไฟฟ้า (คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 41.87 ล้านบาท)

2) บริษัทมีแผนในการลงทุนในด้านพลังงานทางเลือก เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) รวมไปถึงระบบเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่นเทคโนโลยีด้านการเกษตร และเทคโนโลยีด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 251.24 ล้านบาท

3) บริษัทมีแผนในการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านการให้บริการ เพื่อต่อยอดธุรกิจของบริษัทฯ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, การพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานยนต์หรือระบบรางแบบไร้คนขับ และการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการลงทุนวิจัยและพัฒนา จำนวนประมาณ 49.26 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top