นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดในอินโดนีเซียจะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของอินโดนีเซียชะลอตัวลงจนถึงปลายปี 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางอาจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยธนาคารกลางได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้
นายวาร์จิโยระบุว่า “อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลายาวนาน” พร้อมระบุว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้เวลานานขึ้นก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก
“การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาทำให้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าลงกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้เราจึงคาดว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยังไม่สูงขึ้นในช่วงต้นปีหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะปรากฎให้เห็นในช่วงปลายปีหน้า” นายวาร์จิโยกล่าว
นับตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทั้งสิ้น 1.50% อีกทั้งยังได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินกว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการกู้ยืม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)
Tags: ธนาคารกลางอินโดนีเซีย, อินโดนีเซีย, เงินเฟ้อ, เพอร์รี วาร์จิโย