นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การล็อกดาวน์ของประเทศไทยในขณะนี้มีประสิทธิภาพในการล็อกดาวน์อยู่ที่ 20% อย่างไรก็ตาม หากจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากกว่านี้ มีความจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพในการล็อกดาวน์ให้อยู่ที่ 25% ดังนั้นในช่วงการขยายการล็อกดาวน์วันที่ 3-18 ส.ค.นี้ สธ.ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้ปฎิบัติตามมารตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องการเดินทาง และความระมัดระวังในการป้องกันเชื้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการล็อกดาวน์ และเพื่อแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่ลดลง
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปว่า ในเดือนส.ค. นี้ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยในพื้นที่กทม. สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าที่วางไว้ 80% แล้ว
ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สธ.ยังคงเป้าวัตถุประสงค์ของการให้วัคซีนเช่นเดิม คือป้องกันการเสียชีวิตเป็นหลัก ดังนั้นยังคงต้องดำเนินฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหมดให้ได้ตามแผนก่อน โดยจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับมาทั้งหมด 100 ล้านโดส ต่อสัดส่วนประชากร 50 ล้านคน คาดการณ์ไว้ว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับวัคซีนในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 64 โดยแผนการกระจายวัคซีนในลำดับถัดไป จะค่อยๆ ลดอายุของกลุ่มเป้าหมายลงมาเรื่อยๆ เช่น กลุ่มอายุ 50 ปีจะได้ฉีดก่อน เป็นต้น ในขณะเดียวกันจะทำการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ต้องให้บริการรถสาธารณะ เป็นต้น
สำหรับชาวต่างชาติ ยังคงยึดแผนการฉีดวัคซีนโดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ก่อน โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 280,075 คน คิดเป็น 5.72% ของจำนวนประชากรชาวต่างชาติในประเทศไทย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการบริการสายด่วนสุขภาพจิต ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1323 พบว่ามีสถิติค่อนข้างสูงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก โดยการระบาดระลอกแรกในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ษ. 63 มีสถิติสูงสุด และในการระบาดระลอก 3 นี้สถิติเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงการระบาดระลอกแรก เนื่องจากประชาชนมีความกังวล และความตึงเครียดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่มีโอกาสในการติดเชื้อสูงเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี กรมสุขภาพจิตได้เพิ่มช่องทางการปรึกษาทั้งช่องทางเฟซบุ๊ก และไลน์ @1323FORTHAI เพื่อรองรับการติดต่อรับคำปรึกษาจากประชาชนจำนวนมาก จากทั้งประชาชนทั่วไปที่มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด, ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากความสูญเสียบุคคลในครอบครัว, บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเพื่อดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่อยู่ในโครงการ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ด้วย
สำหรับสภาพจิตใจของผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แนะนำให้ประชาชนมีวัคซีนทางใจ โดยยึดหลัก “Safe Calm Hope Care” คือการดูแลตนเองทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ หลีกเลี่ยงการรับข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความตระหนก หรือหวาดกลัวมากเกินไป รวมทั้งหันมาพูดคุยกับคนในครอบครัว ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือหากมีกำลังมากพอควรออกมาช่วยเหลือชุมชนรอบข้าง เพื่อให้ชุมชนสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ส่วนของการดูแลสุขภาพจิตของทั้งเด็กเล็ก และเด็กโต ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนในครอบครัวจากโรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญต่อเด็กคนนั้นๆ เป็นอย่างมาก โดยผู้ใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องมีความมั่นคงทางสติ และอารมณ์ เปิดโอกาสในการพูดคุย ให้คำปรึกษา ให้เด็กได้ระบายความรู้สึกออกมาในรูปแบบต่างๆ และที่สำคัญคือการอยู่เคียงข้างเด็ก เพื่อให้สามารถก้าวผ่านความสูญเสียไปพร้อมๆ กัน
ในส่วนสุขภาพจิตของผู้ใหญ่ มักเกิดจากกรณีที่บุคคลในครอบครัวเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ได้ร่ำลา หรือไม่สามารถจัดงานศพตามพิธีการทางศาสนาได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีข้อจำกัดในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งกรมสุขภาพจิตแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในความสูญเสีย หากเป็นไปได้ให้จัดพิธีการหรือดำเนินการต่างๆ ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในอารมณ์สูญเสียนานเกินไปถึงระยะเวลา 3-6 เดือน ให้ติดต่อกรมสุขภาพจิต เพื่อรับคำปรึกษาเยียวยาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, พรรณพิมล วิปุลากร, ล็อกดาวน์, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร