ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนสื่อมวลชนและทนายความได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จากกรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช.ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
นายนรเศรษฐ์ หนองนาตูม ทนายความ กล่าวว่า การยื่นฟ้องวันนี้เพื่อให้ศาลพิจารณาการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและขอให้ศาลนัดไต่สวนคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากในมุมมองของสื่อมีการจำกัดความหวาดกลัวไว้ชัดเจน แต่ในกรณีนี้ไม่ได้ระบุความหมายที่ชัดเจนไว้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ อีกทั้งตามประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สั่งให้ระงับตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต
ดังนั้นจึงเข้าข่ายความผิดบทบัญญัติจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการให้อำนาจเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่มีช่องทางยื่นหนังสือเพื่อต่อสู้คดี
น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักจริยธรรมมาโดยตลอดไม่เคยบิดเบือนหรือกล่าวหาโดยไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอความจริงทุกอย่างโดยเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในสถานการณ์ที่ประชาชนหวังพึ่งสื่อเพื่อขอความช่วยเหลือแต่กลับถูกปิดกั้น และนำกฎหมายมาควบคุมจะยิ่งทำให้ประชาชนไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ จนท้ายที่สุดแม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตในบ้านก็จะไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวความผิด เกรงกลัวกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีประกาศล่าสุดระบุ อนุโลมให้เฉพาะสื่อมวลชนที่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชนมองว่า สิ่งนี้ไม่ใช่แค่สื่อที่จะได้รับการอนุโลม แต่ต้องเป็นคนไทยทุกคนที่ควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)
Tags: กสทช., ทนายความ, ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สื่อมวลชน