นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพิจารณาจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับบริจาคมาให้จำนวน 1,503,450 โดส
“บุคลากรด่านหน้าที่มีความเสี่ยงทุกคนจะได้รับจัดสรรทั้งหมด อาสาสมัครกู้ภัย เก็บศพ สัปเหร่อ ก็อยู่ในโควต้า 7 แสนโดส หากใครคิดว่ายังตกหล่น ในต่างจังหวัดให้ประสานมายัง สสจ. ส่วน กทม.ให้ประสานสำนักอนามัย” นพ.สุระ กล่าว
นพ.สุระ กล่าว
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ จะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็ม 3 จำนวน 700,000 โดส
2.กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 13 จังหวัด เพื่อฉีดให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป จำนวน 645,000 โดส
3.กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงชาวต่างชาติ และคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา จำนวน 150,000 โดส
4.ทำการศึกษาวิจัย 5,000 โดส และ 5.สำรองฉุกเฉิน 3,450 โดส
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ามีหลักการ ดังนี้
1.ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้น 1 เข็ม
2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้ว 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
3.ผู้ที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
4.ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม กรณีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงเพียงพอ แต่ขอให้ลงทะเบียนรายชื่อไว้ หากมีข้อมูลวิชาการเพิ่มเติมและมีปริมาณวัคซีนเพิ่มเติมจะดำเนินการให้วัคซีนไฟเซอร์ต่อไป
“การฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะเป็นไปตามการพิจารณาของต้นสังกัด เนื่องจากเป็นวัคซีนที่นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่จะมีมาเพิ่มเติม การฉีดให้ยังเป็นไปโดยสมัครใจ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังปฏิเสธข่าวการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปฉีดให้กับบุคคลระดับวีไอพี เพราะวัคซีนล็อตนี้ส่งมาถึงเมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 ขณะนี้ยังเก็บรักษาอุณหภูมิไว้ที่บริษัท ซิลลิคฯ ยังไม่มีการกระจายออกไปให้ใคร หากมีการฉีดให้จริงคงเป็นวัคซีนไฟเซอร์จากที่อื่น ไม่ใช่ล็อตนี้แน่นอน
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ต้องขอบคุณ สธ.ที่มีความห่วงใยต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากองค์กรวิชาชีพด้านการแพทย์ ทำให้มีการปรับแผนกระจายและฉีดวัคซีนที่มีความโปร่งใส สามารถติดตามตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจนเป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย การใช้วัคซีนต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินยังคงมีความเสี่ยงจึงต้องติดตามข้อมูลทางวิชาการอย่างใกล้ชิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 64)
Tags: Pfizer, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, สุระ วิเศษศักดิ์, โอภาส การย์กวินพงศ์, ไฟเซอร์